'สะพานถล่มลาดกระบัง' วิศวกร ตั้ง 2 ข้อ วิเคราะห์สันนิษฐาน ปมเครนก่อสร้างถล่ม
เหตุ 'สะพานถล่มลาดกระบัง' นักวิชาการวิศวกรโครงสร้าง ตั้ง 2 กรณี วิเคราะห์ข้อสันนิษฐาน ปม เครนก่อสร้างถล่ม หาปมเหตุที่แท้จริง เรียกร้องทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหลักการ - ขั้นตอนทางวิศวกรรม
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประทศไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่ เครนก่อสร้างถล่ม ระหว่างทำการก่อสร้างสะพานตามที่ปรากฏเป็นข่าว 'สะพานถล่มลาดกระบัง' นั้น ขณะนี้กำลังประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อสันนิษฐานของการพังถล่ม และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด จะต้องรอการตรวจสอบเชิงลึกเสียก่อน
เมื่อประมวลจากเหตุการณ์แล้ว จุดตั้งต้นของการวิเคราะห์จะต้องระบุลำดับของการพังถล่มว่าเริ่มขึ้นจากจุดใดก่อน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
1. เครนก่อสร้างร่วงลงมาแล้วทำให้ 'สะพานถล่ม' ตามมา
2. สะพานถล่มแล้วทำให้เครนก่อสร้างร่วงลงมา
ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจน ว่าจะเป็นแบบไหน เนื่องจากการวิบัติของสะพานลักษณะนี้ มักจะมีจุดเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วลุกลามไปสู่จุดอื่น คล้ายๆ การล้มตามกันของแท่งโดมิโน
จากการวิเคราะห์ระบุว่า เครนล้มลงมาก่อน ก็จะไปนำสู่การประเมินสาเหตุของการใช้งานเครน การติดตั้ง ยึดรั้งเครนกับโครงสร้าง ตลอดจนการเคลื่อนที่ของเครน เพราะเครนก่อสร้างเป็นโครงสร้างเหล็กที่มีความสูงและบาง ก็อาจเสียสมดุลและล้มได้ง่ายหากยึดรั้งไม่ดีพอ
แต่หากผลการวิเคราะห์ระบุว่าโครงสร้างสะพานเริ่มพังก่อน จากนั้นทำให้เครนสูญเสียการรองรับ ก็อาจทำให้เครนล้มลงได้เช่นกัน หากเป็นกรณีหลัง ก็ต้องไปดูว่าสาเหตุที่ทำสะพานพังก่อนเกิดขึ้นจากขั้นตอนใด เช่น ขั้นตอนของการดึงลวดอัดแรงหรือจากสาเหตุอื่น
ทั้งนี้การวิเคราะห์สาเหตุในเชิงลึกจะต้องตรวจสอบ แบบก่อสร้าง รายละเอียดการออกแบบ การคำนวณระหว่างการก่อสร้าง ขั้นตอนการทำงาน (Method statement) ตลอดจนคุณภาพวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง จึงจะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้
การก่อสร้างโครงสร้างสะพานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในเขตชุมชน เป็นงานที่อันตรายและมีความเสี่ยงมาก แต่ก็มีหลักปฏิบัติทาง วิศวกรรม ที่ครอบคลุมอยู่แล้ว แม้กระนั้นก็ยังเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการมาตรฐานการทำงาน กำกับดูแล และการควบคุมการก่อสร้างว่ามีการบังคับใช้อย่างจริงจังแค่ไหน
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ วิศวกร ที่ปรึกษา ตลอดจนถึงหน่วยงานเจ้าของโครงการ จะต้องดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักและขั้นตอนทางวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรกสุด
การดำเนินโครงการต่อไป จะต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของการพังถล่มให้ได้เสียก่อน และผู้รับจ้างจะต้องนำเสนอวิธีการและมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก จึงจะให้ก่อสร้างต่อได้ และควรกำหนดให้มี การสุ่มตรวจสอบการก่อสร้างอิสระ ซึ่งอาจจะมาจากสมาคมวิชาชีพที่เป็นกลาง หรือ ทางภาครัฐ เข้าร่วมสุ่มตรวจสอบงานก่อสร้าง อีกทั้งควรกำหนดมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการก่อสร้างที่เสี่ยงอันตราย ในช่วงเวลาที่ประชาชนใช้ถนนอย่างหนาแน่น หรือให้ปิดการจราจรชั่วคราว และ การกำหนดแผงกั้นพื้นที่ก่อสร้าง มิให้เศษวัสดุ หรือสิ่งของต่างๆ หลุดร่วงไปที่ผิวจราจร