'บก.ปปป.' ลุยตรวจ 'สะพานลาดกระบัง' ถล่ม หน่วยงานรัฐละเว้นหน้าที่หรือไม่
'บก.ปปป.' จับมือ ป.ป.ท.-ป.ป.ช. ลุยตรวจสอบ 'สะพานลาดกระบังถล่ม' เร่งรวบรวมเอกสารหลักฐาน เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เจาะลึกถึงขั้นตอนบริษัทประมูลโครงการ
13 ก.ค.2566 จากเหตุโศกนาฏกรรม โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม. ทรุดตัวพังถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ช่วงค่ำวันที่ 10 ก.ค. 66
เบื้องต้นจากการตรวจสอบสาเหตุสันนิษฐานว่าเกิดจากตัวโครงสร้างสะพาน พังลงขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้เสียสมดุล ล้มพับทับโครงสร้างสะพานจนเกิดการถล่มลงมาดังกล่าว
เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หลายคนตั้งข้อสงสัยสะพานพังถล่มได้อย่างไร ใครจะรับผิดชอบ หรือ มีการทุจริตในการก่อสร้างหรือไม่
ประเด็นนี้นำไปสู่การจับมือทำงานร่วมกันของ 3 หน่วยงานคือ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา เพื่อดูว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) เปิดเผย "คมชัดลึก" ขณะนี้ ทาง บก.ปปป. ร่วมกับ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ลงมาตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นมีเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ การดำเนินการตามอำนาจหรือไม่ หรือเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ทำให้สะพานถล่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานทั้งหมด
ทั้งนี้จะเน้นไปที่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมงานก่อสร้าง การควบคุมการทำงานผู้รับเหมา และ มาตรฐานของการก่อสร้าง
และประเด็นสำคัญคือการตรวจสอบย้อนไปตั้งแต่การประมูลงานก่อสร้าง ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่ได้รับการประมูลการก่อสร้างมีศักยภาพมากน้อยขนาดไหนในการก่อสร้างโครงการใหญ่ขนาดนี้
"การลงมาตรวจสอบครั้งนี้จะต้องตรวจดูเนื้อปูน เนื้อเหล็ก โครงสร้าง การเซ็นผ่านแต่ละงาน มีคุณภาพมาตรฐานอย่างไร รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการทุจริตในโครงการหรือไม่ ตั้งแต่เริ่มโครงการ"
ทั้งนี้ตำรวจ บก.ปปป. ได้นำโดรนขึ้นบินสำรวจความเสียหายของโครงสร้าง เก็บภาพข้อมูลรายละเอียดต่างๆ นำไปประมวลเรื่องราวร่วมกับภาพหลักฐานเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนบันทึกได้ในขณะเกิดเหตุ หลังจากนี้จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสถานมา สอบปากคำพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
ขณะที่ น.ส.ชิยา ศิริรักษ์ ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 สำนักงาน ป.ป.ท. ระบุว่า หลังเกิดเรื่องขึ้นทาง สำนักงาน ป.ป.ท. ไม่ได้นิ่งเฉย โดยได้ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปปป. เข้ามาร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ท. จะมุ่งเน้นในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างการบริหารสัญญา เพื่อดูว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนนำมาสู่การเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นหรือไม่
ซึ่งขณะนี้มีการประสานขอเอกสารรายละเอียดการจัดสร้าง หนังสือสัญญา จากทาง กทม. ทราบว่า อยู่ระหว่างการรวบรวม และจะมีการลงพื้นที่ซ้ำอีกครั้ง เพื่อสอบถามชาวบ้านว่า ในช่วงระหว่างการก่อสร้างนั้นได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัย ก่อนจะเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำภายหลัง