'รู้ทัน' กลโกง 'แก๊งดูดเงิน' หลอกโหลดแอปฯปลอม 'ดูดเงิน' เกลี้ยงบัญชี
กลโกง 'แก๊งดูดเงิน' อ้างเจ้าหน้าทีกรมที่ดินหลอกแอดไลน์ 'กรมที่ดิน' หรือ แอปฯปลอม 'smartlands' เตือนอย่าหลงเชื่อไม่อย่างนั้นถูกแฮ๊กข้อมูลโทรศัพท์ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี เหยื่อสาวสูญเงินเกือบ 4 แสนบาท
21 ก.ค. 2566 ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าภัยออนไลน์ เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ มิจฉาชีพเปลี่ยนพฤติกรรมการก่อเหตุหลอกลวงเหยื่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรหลอกให้โอนเงิน ยกระดับหลอกให้กดแอปพลิเคชันหลอกดูดเงิน
ล่าสุดมีเหยื่อสาวรายหนึ่ง เข้าร้องเรียน ต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ว่าถูกคนร้ายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน แล้วแฮกโทรศัพท์มือถือ ดูดเงินไปเกือบ 4 แสนบาท
พฤติกรรมสุดแสบของคนร้ายจะใช้กลวิธี โทรศัพท์หาเหยื่อ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน กำลังสำรวจพื้นที่ โดยมีการบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนที่ดิน จำนวนที่ดิน วันที่โอน บ้านเลขที่ ชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก
คนร้ายรู้ข้อมูลของเหยื่อทุกอย่าง ทั้งชื่อนามสกุล บ้านเลขที่บ้าน เลขบัตรประชาชน ทำให้เหยื่อหลงเชื่อสนิทใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจริงๆ
ขั้นตอนต่อไปหลอกให้เหยื่อแอดไลน์ชื่อ "กรมที่ดิน" เพื่อต้องการจะคุยผ่านทางไลน์ เท่านั้นไม่พอยังหลอกให้เหยื่อยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันชื่อ "smartlands" อ้างต้องการเก็บข้อมูลในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เหยื่อหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน ลงในโทรศัพท์มือถือ
หลังจากโหลดแอปฯ คนร้ายก็ให้ทำตามขั้นตอนโดยมีการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ตอนนี้หารู้ไหมว่าเหยื่อกำลังแฮ๊กข้อมูลในโทรศัพท์มือถือดูดเงินไปแล้ว
เหยื่อสาวรายนี้มารู้ตัวว่าถูกหลอก เมื่อมีข้อความจากธนาคารกรุงไทย ส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ ระบุว่ามียอดถอนเงินจากบัตรเครดิต จำนวนเงิน 5 หมื่นบาท ถึง 3 ครั้ง
เหยื่อรีบโทรติดต่อธนาคารกรุงไทย เพื่อยืนยันว่าไม่ได้กดเงิน แต่มีเงินออกจากบัญชี ซึ่งทางธนาคารยืนยันว่าเงินถูกถอนออกไปหมดบัญชีแล้ว
สุดท้ายมารู้ก็สายไปแล้วเมื่อคนร้ายดูดเงินออกจากบัญชีไปจนหมด รวมทั้งบัญชีธนาคารอื่นๆถูกแฮ๊กข้อมูลดูดเงินไปจนหมดเกลี้ยงบัญชีเช่นกัน รวมยอดเงินแล้วเกือบ 4 แสนบาท
ข้อควรระวังไม่ตกเป็นเหยือแก๊งดูดเงินคือ ไม่หลงกลเข้าเว็บไซต์ปลอมของกรมที่ดิน และให้เข้าแชตไลน์ปลอม ใช้ชื่อไลน์ว่า “กรมที่ดิน หรือ SmartLands”
หากหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน ระหว่างนั้นโทรศัพท์จะขึ้นข้อความ "ระหว่างทำการตรวจสอบห้ามใช้งานมือถือ" คนร้ายจะใช้ช่วงเวลานี้ดำเนินการดูดเงินจากบัญชีทันที
ทั้งนี้ข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงมีนาคม 2566 - มิถุนายน 2566 สถิติคดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ อยู่ในลำดับที่ 7 แต่ช่วง 2 สัปดาห์นี้ สถิติการรับแจ้งความเพิ่มมากขึ้นจนขยับมาอยู่ลำดับที่ 4 มีสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ในรอบ 2 สัปดาห์ ห้วงวันที่ 2-15 ก.ค.2566 จำนวน 595 เคส ความเสียหาย 90.5 ล้านบาทเศษ