ข่าว

โจรออนไลน์ 'สายบุญ' หลอกกดลิ้งทำบุญ ระวังอาจโดนดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

โจรออนไลน์ 'สายบุญ' หลอกกดลิ้งทำบุญ ระวังอาจโดนดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

25 ก.ค. 2566

เตือนภัยโจรออนไลน์ 'สายบุญ' ช่วงวัน 'อาฬสาหบูชา-เข้าพรรษา' หลอกกดลิ้งทำบุญ เวียนเทียนออนไลน์ ระวังเว็บปลอม ลิ้งปลอม อาจถูกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

 

25 ก.ค. 2566 ปัจจุบันนี้คนร้ายที่แฝงตัวเข้ามาก่อเหตุลวงเหยื่อทางโลกออนไลน์ มีหลากหลายรูปแบบ หากใครไม่ทันกลโกงมักจะตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินทอง

 

แม้กระทั่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา บรรดามิจฉาชีพ ยังหากลโกงหลอกเหยื่อ ยิ่งใกล้วันอาฬสาหบูชา และเข้าพรรษา มิจฉาชีพเหล่านี้เตรียมออกอุบายหลอกเหยื่อสายบุญ สายมู ออนไลน์

 

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ 15 ค่ำ เดือน 8 หนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

 

 

 


ศาสนิกชนทั้งหลายต่างถือโอกาสนี้ ในการแสดงออกถึงความระลึกในคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งทำบุญทำทาน เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ตลอดจนการเวียนเทียน 

 

 

 

ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้น การทำบุญ หรือร่วมพิธีกรรมทางศาสนา จึงมีการพัฒนานำเทคโนโลยีออนไลน์มาหลอกเหยื่อ เช่น การสวดมนต์ออนไลน์ ทำบุญออนไลน์ หรือ การเวียนเทียนออนไลน์  

 

 

 


ดังนั้นจึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพออนไลน์ ฉวยโอกาสหลอกทำเว็บไซต์ปลอม ลิงก์ปลอม และอีกสารพัดกลลวง เพื่อโจรกรรมทรัพย์สินของเหยื่อ โดยระบุรูปแบบอาชญากรรมที่โจรออนไลน์อาจใช้ในการหลอกลวงประชาชน 5 รูปแบบคือ

 

 


1. หลอกให้เช่าวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลังออนไลน์ โดยให้โอนเงินก่อน แต่ไม่จัดส่งสินค้า ส่งสินค้าปลอม ไม่ตรงปก 
2. เว็บเวียนเทียนออนไลน์ปลอม โดยหลอกให้ติดตั้งแอปฯ รีโมท เพื่อทำการดูดเงิน 
3. หลอกให้ทำบุญออนไลน์ โดยให้โอนเงินทำบุญ ด้วยการให้หมายเลขบัญชีปลอม 
4. ใบอนุโมทนาบัตรออนไลน์ปลอม โดยหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อหวังว่าสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
5. หลอกสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ดูดวงออนไลน์ โดยหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด รูปถ่ายของเหยื่อไปใช้

 

 

 

หากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อ รู้ทันเหลี่ยมโจร ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายสินค้าออนไลน์ ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) ไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมนอกเหนือจากแห่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบ เช่น Play Store หรือ App Store 

 

 

 

ตรวจสอบบัญชีให้แน่ชัดว่าเป็นของหน่วยงานจริงก่อนทำการโอนเงินทำบุญออนไลน์ และระมัดระวังการกรอกหรือให้ข้อมูลส่วนตัว ตลอดจนไม่ส่งเอกสารสำคัญ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว

 

 

 

จดจำให้ขึ้นใจ "ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน" เพียงเท่านี้ท่านก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์