ตร.แจง 'เฟคนิวส์' สวมซิมโทรศัพท์ทำไม่ได้ ประชาชนอย่ากังวล
ตำรวจ พร้อม สมาคมโทรคมนาคมฯ แจงการ 'สวมซิม' ควบคุมเครื่องโทรศัพท์ โอนเงินออกจาก 'บัญชี' ทำไม่ได้ ย้ำข้อความที่ส่งทางออนไลน์เป็น 'Fake News' ประชาชนอย่ากังวล ปัจจุบันมีกฎหมายควบคุม 'ซิมผี บัญชีม้า'
26 ก.ค. 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนกรณีมีการแชร์ในโลกโซเชียลเกี่ยวกับการสวมซิม (SIM SWAP) เพื่อควบคุมเครื่องโทรศัพท์และโอนเงินออกจากบัญชีไป
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รอง ผบก.ตอท. พ.ต.อ.ชัยณรงค์ บุญด้วง รอง ผบก.ภ.จว.สระแก้ว พ.ต.อ.ไพโรจน์ เพ็ชรพลอย ผกก.กลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บก.ตอท. พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รอง ผบก.วจ.สยศ.ตร.(รอง หน.ฝ่ายประสานงานสื่อมวลชนและแถลงข่าว ศปอส.ตร.) ร่วมกับ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมชี้แจง กรณีมีการแชร์ในโลกโซเชียลเกี่ยวกับการสวมซิม (SIM SWAP) เพื่อควบคุมเครื่องโทรศัพท์และโอนเงินออกจากบัญชีไป
พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รองผบก.ตอท. เปิดเผยถึงกรณีที่มีการส่งต่อข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า มีมิจฉาชีพใช้วิธีการสวมรอย หรือลักลอบใช้ซิมโทรศัพท์ที่เรียกว่า sim swap fraud ที่คนร้ายจะใช้วิธีตัดสัญญาณโทรศัพท์ชั่วคราว ก่อนทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อมาว่า เครือข่ายสัญญาณมือถือมีปัญหา ต้องกดหมายเลขเพื่อเชื่อมต่อเครือข่าย แต่ระหว่างนั้นคนร้ายได้ควบคุมโทรศัพท์ และโอนเงินออกจากบัญชีไปแล้ว โดยที่เจ้าของไม่ได้รับการแจ้งเตือน เนื่องจากถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จนก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในประชาชนนั้น
ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ปัจจุบันผู้ให้บริการและหน่วยงาน กสทช.ได้มีมาตราการป้องกันการสวมสิทธิ์ซิมโทรศัพท์ รวมถึงในทางเทคนิคก็ยังเป็นไปไม่ได้ และยังไม่เคยมีการรับแจ้งความในเรื่องนี้ และปัจจุบันได้มีการบังคับใช้ พรก.ควบคุมซิมผีบัญชีม้าที่มีอัตราโทษสูงขึ้น กำหนดให้ทุกซิมต้องยืนยันตัวตนก่อนนำมาใช้ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา โดยโทษสำหรับผู้ที่ใช้ซิมผี คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี จำคุกไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นายเลิศรัตน์ เลิศรัตน์ รตะนานุกูล กรรมการบริหารและประชาสัมพันธ์ สมาคมโทรคมนาคมฯ กล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการแล้วว่าในทางปฏิบัตินั้น ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งการใช้นาโนซิมในปัจจุบันมีระบบการป้องกันหลายชั้น และการเปิดใช้บริการซิมต้องมีการลงทะเบียน และยืนยันตัวตนผ่านศูนย์เท่านั้น กรณีที่ใช้บริการ multi sim หรือหนึ่งเบอร์ใช้หลายซิมนั้น ก็สามารถใช้โทรเข้าออกได้เพียงซิมแรก ส่วนซิมอื่นที่ใช้เบอร์เดียวกัน สามารถใช้ได้แค่อินเตอร์เน็ตเท่านั้น หรือสามารถใช้ได้ทีละซิมและต้องขอเข้ารหัสเท่านั้น และผู้แทนจำหน่ายซิมทุกรายต้องลงทะเบียนซิมอย่างถูกต้องตามกฏหมายของ กสทช.ที่บังคับใช้แล้วเมื่อต้นเดือน กค.ที่ผ่านมา จึงยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่มิจฉาชีพจะนำวิธีการสวมซิมดังกล่าวไปใช้
ทั้งนี้กรณีที่อาจโดนมิจฉาชีพสวมรอยหรือลักลอบการใช้ SIM นั้น ปัจจุบันผู้ให้บริการ และ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลได้มีมาตรการป้องกันกรณีการสวมสิทธิ์ออก SIM ทดแทน การแอบอ้าง รวมถึงในแง่เทคนิค ซึ่งกรณีดังกล่าวจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้หรือมีความเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการตื่นตระหนก จึงขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันว่า ข้อความที่ส่งต่อกันทางออนไลน์คือ Fake News
หากมีผู้ใดได้รับความเสียหายจากการสวมซิม (SIM SWAP SCAM) ดังกล่าว กรุณาแจ้งได้ที่เว็บไซต์สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://tct.or.th , http://www.facebook.com/tct.or.th หรือโทร. 02-0033781-2 หรือมีข้อสงสัย ให้โทรแจ้งสายด่วน 1441 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com
ทั้งนี้ประชาชน สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ www.เตือนภัยออนไลน์.com หรือโทรสายด่วน 1441