ข่าว

โกดัง 'พลุระเบิด' สะเทือนโรงพักมูโนะ 'จ่ายส่วย' เดือนละ 3-5 หมื่นบาท

โกดัง 'พลุระเบิด' สะเทือนโรงพักมูโนะ 'จ่ายส่วย' เดือนละ 3-5 หมื่นบาท

02 ส.ค. 2566

'จ่ายส่วย' โกดัง 'พลุระเบิด' กลางตลาดมูโนะ สะเทือนวง 'การสีกากี' เมื่อมีคำสั่งย้ายตำรวจโรงพักมูโนะ 4 นาย แฉ 'จ่า ฟ.' เก็บเงินธุรกิจสีเทา เดือนละ 3-5 หมื่นบาท ขณะที่ 'มหาดไทย' สั่งกำชับตรวจสอบโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟทั่วประเทศ

 

2 ส.ค. 2566 กลายเป็นสะเทือนวง "การสีกากี" อีกครั้ง เมื่อ พล.ต.ต.อนุรุธ อิ่มอาบ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งย้ายข้าราชการตำรวจ สภ.มูโนะ จำนวน 4 นาย ให้มาช่วยราชการที่ ศปก.ภ.จว.นราธิวาส  ประกอบด้วย ผกก. , รอง ผกก.ป., สว.ป.และ สว.สส.

 

การสั่งย้ายฟ้าผ่าครั้งนี้ สืบเนื่องจากเหตุ โกดัง "พลุระเบิด"กลางชุมชนตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 ศพ บาดเจ็บนับร้อยคน บ้านเรือนเสียหายกว่า 300 หลัง เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

 

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า โกดังเก็บ "พลุระเบิด" ใหญ่ขนาดนี้ ตั้งอยู่กลางชุมชนได้อย่างไร ใครเป็นผู้อนุญาต แต่จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าของโกดัง มีอาชีพเปิดขายของเบ็ดเตล็ดบังหน้า แต่ธุรกิจหลักคือค้าขายประทัดและพลุส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย 

 

 

 

สามีภรรยาคู่นี้ ทำธุรกิจขายพลุ-ดอกไม้ไฟมานานแล้ว และเมื่อเดือนมิ.ย. 2559 เคยถูกเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า นำกำลังเข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า สามารถยึดพลุและดอกไม้ไฟได้ 60 ตัน  

 

 

 

จนมาครั้งนี้เกิดโกดัง "พลุระเบิด" สร้างความเสียหายมหาศาล กระทั่งล่าสุดเจ้าหน้าทีมีการออกหมายจับสองสามีภรรยา เจ้าของโกดังพลุแห่งนี้แล้ว แต่ทั้งสองคนเดินไปยังประเทศมาเลเซีย ยังไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด

 

สองสามีภรรยา เจ้าของโกดังพลุ ตลาดมูโนะ จ.นราธิวาส

 

 

 

หลายคนสงสัยโกดัง"พลุระเบิด"ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนได้อย่างไร ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Golok Spotlight ออกมาโพสต์ตั้งคำถามว่า สิ่งที่ประชาชนสงสัยคือ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จะไม่รู้จริง ๆ หรือว่า ตรงนั้นเป็นแหล่งเก็บพลุ และโกดังลักลอบเก็บก็ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานแล้ว ซึ่งเจ้าของโกดัง เคยถูกจับโดย กอ.รมน. ในปี 2559 ตอนนี้หลุดคดีมาก็ถือว่าไม่ธรรมดา

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่า เจ้าของจ่ายเงินให้ตำรวจในพื้นที่เพื่อดูแลธุรกิจสีเทาเดือนละ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน โดยมี "จ่า ฟ." เป็นคนเก็บเงินทั้งหมด 

 

 

 

ตอนนี้กลายเป็นว่า ชาวบ้านต้องมารับกรรมเสียทรัพย์สิน เสียคนรัก ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง แต่เป็นเพราะข้าราชการ บางนายที่ละเลยยอม "รับส่วย" จนเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ถ้าหากยังไม่มีการตรวจสอบหรือดำเนินการใด ๆ ถึงเวลาที่ประชาชนควรจะต้องหมดศรัทธาแล้ว

 

นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่จุดโกดังพลุระเบิด

 

 

 

ขณะเดียวกัน นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม มีการเขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ @nolkannavee ว่า ก่อนที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ มีข้อมูลบางส่วนที่อยากแชร์ให้ประชาชนทราบว่า กรณีโกดัง "พลุมูโนะระเบิด" ไม่ใช่เหตุการณ์แรกและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะในช่วงปี 2549-2559 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกือบ 80 ครั้ง และถ้านับมาถึงปัจจุบันคงเกิดเกือบ 100 ครั้งแน่นอน

 

 

 

เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ เนื่องจากอันตรายจ่อใกล้ชุมชนเรื่อยมา และทางการก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกฎหมายควบคุม มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเพื่อป้องกันโดยเฉพาะ ทั้ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ 2490, พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ฯลฯ

 

 

 

แม้มีกฎหมายมากมาย เหตุการณ์ก็ยังควบคุมไม่ได้ จึงขอสรุปเรื่องการบังคับใช้ตัวกฎหมายนี้ว่า
1. ทบทวนแนวปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันที่ส่วนราชการระดับพื้นที่
2. กระจายให้เห็นถึงกระบวนการในการกำกับควบคุม ตั้งแต่ตั้งสถานประกอบการ ระบบป้องกันที่มีมาตรฐานระดับสากล ไปจนถึงการความพร้อมรับมือและเยียวยาฟื้นฟู

 

 

 

นี่เป็นสิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำ เพื่อจะให้เห็นถึงการทับซ้อน เหลื่อมกันของกฎหมายแต่ละฉบับของส่วนราชการ และมีช่องโหว่ของการดำเนินการที่ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ โดยเฉพาะเรื่อง หลักเกณฑ์สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ จะต้องมีระยะห่าง และมั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ห้อมล้อม และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจถึงประโยชน์ของพวกเขา

 

 

 

อย่างไรก็ตามเส้นทางทำธุจกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายพลุดอกไม้ไฟ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่วนใหญ่มีการนำเข้ามาจากประเทศจีน โดยเฉพาะจ.นราธิวาส มีผู้ประกอบการจำหน่ายพลุ มีร้านจำหน่ายและโกดังบริเวนชายแดนตามแนวแม่น้ำโกลก ตั้งแต่พื้นที่อ.แว้ง สุไหงโกลก และอ.ตากใบ เกือบ 20 ราย

 

 

 

ส่วนใหญ่ เป็นการจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าพลุ ดอกไม้ไฟโดยตรง มีเพียงใบอนุญาตจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เพื่อให้นำเข้ามาและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จึงขาดมาตรการควบคุมและตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

เงินหมุนเวียนจากธุรกิจพลุดอกไม้ไฟ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดือนละหลายสิบล้านบาท แต่หากเป็นช่วงเทศกาล จะมีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท และร้านจำหน่ายพลุอีกหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเก็บพลุไว้ในชุมชน 

 

 

 

เมื่อเหตุการณ์พลุระเบิดเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้หน่วยงานราชการตื่นตัวอีกครั้ง เมื่อ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงหาดไทยได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด กำชับแนวทางการควบคุม ตรวจสอบผู้รับใบอนุญาต ให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกัน ควบคุมตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจนให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติอาวุปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 เป็นไปด้วยความถูกต้อง

 

 

 

กรมการปกครองจึงขอให้อำเภอดำเนินการตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุดดังกล่าว และขอให้นายอำเภอเร่งตรวจสอบสถานที่ที่อาจเป็นโกดังเก็บดอกไม้เพลิง หรืออาคารลักลอบเก็บดอกไม้เพลิง รวมทั้งที่มาของดอกไม้เพลิงดังกล่าว ว่าได้มาอย่างไร

 

 

ทั้งนี้ ให้อำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมการปกครองภายในวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา