ข่าว

รวบ 2 'แฮกเกอร์เจาะระบบขนส่งฯ' แก้ข้อมูลรถ สวมทะเบียนรถ มูลค่ากว่า 77 ล้าน

รวบ 2 'แฮกเกอร์เจาะระบบขนส่งฯ' แก้ข้อมูลรถ สวมทะเบียนรถ มูลค่ากว่า 77 ล้าน

03 ส.ค. 2566

รวบ 2 "แฮกเกอร์เจาะระบบขนส่ง" เปลี่ยนข้อมูลรถ พบผิดปกติระบบทะเบียนแก้ไขข้อมูลรถหายากกว่า 60 คัน ใช้ความสนิทสนม-ไว้ใจของขนส่ง แอบจำพาสเวิร์ด ก่อนเข้าระบบแก้ไขทะเบียน-แจ้งเล่มหายออกเล่มใหม่เตรียมออกหมายเรียกผู้ครอบครองรถต้องสงสัย

3 ส.ค. 2566  พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)  พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมขนส่งทางบก และนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก ร่วมกันแถลงผลการจับกุมนายเสถียร  (สงวนนามสกุล) และนายศริสร (สงวนนามสกุล) 2 ผู้ต้องหา ร่วมกันลักลอบเข้าระบบของกรมการขนส่งทางบก เพื่อไปเปลี่ยนข้อมูลรถยนต์ ก่อนนำเล่มทะเบียนไปสวมกับซากรถ และรับเปลี่ยนข้อมูลรถยนต์ให้กับรถยนต์ผิดกฎหมาย หลังเข้าตรวจค้น 35 จุด ยึดรถยนต์ได้16 คัน มูลค่าความเสียหายกว่า 77,350,000บาท

 

 

 

 

 

ตร.จับ2แฮกเกอร์เจาะระบบกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนข้อมูลรถยนต์

 

 

นายจิรุตม์ เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก พบความผิดปกติในระบบทะเบียนรถยนต์ โดยมีผู้ลักลอบเข้าไปแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับรถยนต์เก่า ที่มีมูลค่าสูงในวงการรถยนต์เก่า หรือรถยนต์ที่หายาก รวมจำนวน 65 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ที่ไม่อนุญาตให้จดประกอบในไทยตั้งแต่ปี 2557 โดยในจำนวนนี้พบว่ามีการซื้อขายไปแล้วรวม 16 คัน

 

1 ในผู้ต้องหาคือนายเสถียร ซึ่งพบว่าเป็นคนที่มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ขนส่งฯ เนื่องจากมักจะเข้าไปทำติดต่อเรื่องการต่อทะเบียน และตรวจสภาพรถเครื่องรถยนต์ นานกว่า 20 ปี จึงทำให้มีความสนิทสนม และเจ้าหน้าที่ไว้ใจ ทำให้ผู้ต้องหาอาศัยช่องว่างตรงนี้ไปแอบจดจำ password พนักงานได้ 

 

 

ตร.จับ2แฮกเกอร์เจาะระบบกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนข้อมูลรถยนต์

 

 

ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เริ่มดำเนินการเข้าไปในระบบเองได้เมื่อกลางปี 2565 และแก้ไขข้อมูลได้คันแรกช่วงปลายปี 2565 โดยข้อมูลที่จะนำมาสวมกับรถยนต์นั้น จะต้องเป็นรถยนต์ที่มีราคาแพง โดยนำทะเบียนรถที่เป็นซากรถเก่ามาสวม ก่อนที่จะมาแจ้งเล่มทะเบียนรถหาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกเล่มทะเบียนรถใหม่ให้ ทำให้ได้ข้อมูลของรถคันใหม่ออกมา

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเกี่ยวข้อง และยังไม่พบว่ามีการขาย password ให้คนอื่น แต่ครั้งนี้เป็นการตรวจพบของเจ้าของ password เอง ที่พบความผิดปกติจึงแจ้งให้ตรวจสอบ โดยผู้ที่รู้ password การเข้าระบบนี้มีอยู่ด้วยกัน 7 คน และมีการแก้ไขข้อมูลรถของเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเส้นทางการเงินควบคู่กันไปด้วย หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลภายนอกก็จะถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา

 

 

 

ตร.จับ2แฮกเกอร์เจาะระบบกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนข้อมูลรถยนต์

 

 

สำหรับการจดจำรหัสผ่านของผู้ต้องหา อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็จะสามารถเข้าระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบ LAN แต่เมื่ออำนวยความสะดวกใช้เจ้าหน้าที่ใช้แทปเล็ตในการเข้าระบบตรวจสอบรถยนต์ได้ก็สามารถล็อกอินเข้าระบบด้วย wifi ได้ และตรวจสอบในพื้นที่เปิดทำให้บุคคลภายนอกอาจเห็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าระบบได้ แต่ password จะต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว ขณะนี้ก็ได้เน้นย้ำให้หน่วยดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวัง และเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้ใช้บริการแล้ว

 

 

ตร.จับ2แฮกเกอร์เจาะระบบกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนข้อมูลรถยนต์

 

 

ขณะที่ พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวฯ สอท. เปิดเผยว่า ระบบของกรมการขนส่งทางบก มีการวางระบบป้องกันอยู่แล้ว แต่ทางผู้ต้องหาอาศัยความคุ้นชินกับเจ้าหน้าที่เข้าไปจดจำรหัสผ่าน โดยขั้นตอนการกระทำความผิดคือ หลังผู้ก่อเหตุได้ wifi พนักงานมาแล้ว จะทำการใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเข้าระบบผ่าน wifi ของกรมการขนส่งโดยใช้รหัสเป็นเลขบัตรประชาชน เนื่องจากต้องเข้าระบบผ่าน wifi ของขนส่งเท่านั้น จึงจะเข้าระบบได้ 

 

 

ตร.จับ2แฮกเกอร์เจาะระบบกรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนข้อมูลรถยนต์

 

 

จากนั้น ใช้ password พนักงานมาเข้าสู่ระบบทะเบียนรถยนต์ และไปเปลี่ยนข้อมูลรถยนต์ให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ รายละเอียดของตัวรถให้ตรงกับรถยนต์ที่ต้องการไปสวม หรือแก้ไขจากรถยนต์ธรรมดา ให้กลายเป็นเล่มทะเบียนรถที่มีราคาสูง หรือรถยนต์เก่า เพื่อนำเล่มทะเบียนไปขายต่อในราคาที่สูง เมื่อแก้ไขข้อมูลเสร็จ ก็จะทำทีเป็นทำเล่มทะเบียนรถหาย และเข้ามาขอคัดเล่มทะเบียนใหม่ ภายหลังจากขนส่งออกเล่มให้ก็จะนำไปขายต่อ

 

สำหรับลูกค้าที่รับซื้อจะมีด้วยกันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก จะแก้ไขข้อมูลรถยนต์ที่ไม่มีมูลค่า เปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ก่อนที่จะนำเล่มทะเบียนไปขายเล่มละประมาณ 1 ล้านบาท

 

กลุ่มที่สอง คือ คนซื้อเล่มทะเบียนรถไป เพื่อไปหารถยนต์ที่มีสภาพตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียน จากนั้นก็จะไปเปลี่ยนเลขตัวถังรถยนต์ เพราะสามารถยึดที่ปั้มเพลทรถยนต์ได้ โดยกลุ่มนี้จะขายรถยนต์ราคาประมาณ 1 ล้านบาท และเล่มทะเบียนรถยนต์อีก 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท

 

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ และเล่มทะเบียน แต่จดทะเบียนไม่ได้ จึงว่าจ้างให้อีกคนไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก โดยประสานผ่านผู้ต้องหา มีราคาเปลี่ยนคันละ 1.4 - 2 ล้านบาท

 

ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ เปิดเผยว่า จากการตรวจค้นทั่วประเทศรวม 35 จุด และยึดรถยนต์มาได้ 16 คัน โดยผู้ต้องหา 2 คน จะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการแก้ไขข้อมูล นำข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเข้าถึงรหัสโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

 

หลังจากนี้จะขยายผลถึงกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ครอบครองรถยนต์ที่ต้องสงสัยก็จะออกหมายเรียกให้นำรถยนต์เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ถึงการนำเข้ารถยนต์และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรถยนต์