ข่าว

'มาริโอ้' เข้าพบ 'ตำรวจไซเบอร์' พรุ่งนี้ โยงขบวนการ 'สวมทะเบียน' รถโบราณ

'มาริโอ้' เข้าพบ 'ตำรวจไซเบอร์' พรุ่งนี้ โยงขบวนการ 'สวมทะเบียน' รถโบราณ

08 ส.ค. 2566

'มาริโอ้' เข้าพบ 'ตำรวจไซเบอร์' พรุ่งนี้ โยงขบวนการ 'สวมทะเบียน' รถโบราณ แฉ ขบวนการรถจดประกอบ ปี 52 สู่การโจรกรรม รหัส 'ยูสเซอร์เนม-พาสเวิร์ด' ลอบเจาะข้อมูลระบบขนส่ง แก้ไขข้อมูลรถยนต์

 

8 ส.ค. 2566 จากคดีกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ร่วมกับ ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับกุม 2 ตัวการใหญ่ แก๊งสวมทะเบียนรถยนต์สะสม รถโบราณ โดยใช้วิธีการเข้าไปแก้ไขในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก 

 

จนมีการสืบสวนสอบพบว่ามีดารานักแสดงชื่อดังคือ "มาริโอ้" มีการซื้อขายรถโบราณ ยี่ห้อเบนซ์  รุ่น G-300 สีขาว ในเบื้องต้น "มาริโอ้" ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่ามีการติดต่อซื้อรถมาจากรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง โดยได้เพียงเล่มทะเบียน แต่ยังไม่ได้รถยนต์ ซึ่งก็ผิดปกติที่จะต้องซื้อขายรถยนต์ แต่ก็ต้องรอมาสอบสวนและดูเหตุผลประกอบว่าจะมีความผิดหรือไม่

 

แหล่งข่าวจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เปิดเผยว่า "คมชัดลึก" ในวันพรุ่งนี้ ( 9 ส.ค. 2566) เวลา 10.00 น. "มาริโอ้" จะเดินทางเข้าพบ  พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อชี้แจงที่มาที่ไปของการซื้อขายรถโบราณ

 

 

 

ย้อนไปดูการเรียก"มาริโอ้" มาให้ข้อมูลในครั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ตำรวจไซเบอร์ จับ 2 คนร้ายในคดีนี้ อาศัยความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบ แล้วจำรหัส "ยูสเซอร์เนม-พาสเวิร์ด" ลอบเจาะข้อมูลระบบขนส่ง เข้าไปแก้ไขข้อมูลรถยนต์ โดยทำมาแล้ว 65 คัน เจ้าหน้าที่ยึดของกลางรถหรู-ซากรถ ก่อนมีข้อมูลระบุว่า ขบวนการนี้มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนที่ชอบสะสมรถเก่า-รถโบราณ ต้องจ่ายค่าทะเบียนที่ปลอมแปลง เล่มละ 1-2 ล้านบาท

 

ตำรวจไซเบอร์ จับขบวนการสวมทะเบียนรถโบราณ

 

 

 

สำหรับรถโบราณ รถสะสมเหล่านี้ ต้องย้อนไปเมื่อปี 2552 ที่ภาครัฐมีการปล่อยให้เอกชน นำซากรถเข้ามาจดทะเบียนเป็นรถจดประกอบ จึงสบช่องให้ขบวนการทำรถเลี่ยงภาษี นำรถหรู รถสะสมเข้ามาจดทะเบียนกันจำนวนมาก

 

 

 

พฤติกรรมของกลุ่มรถจดประกอบ ที่ตอนนั้นกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ คือ 

1. แจ้งนำเข้าซากรถมาในประเทศ บางส่วนนำโครงรถเข้ามาเสียภาษีตัวถัง 30% 
2. นำโครงรถ และแบบ 32 เอกสารนำเข้า ไปแจ้งประกอบรถที่โรงงานประกอบรถที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต
3. นำรถไปเสียภาษีตามอัตราเช่น รถเล็กที่เครื่องยนต์ไม่เกิน 2800 ซีซี เสียภาษี 30% จากราคาประเมิน รถที่มีเครื่องยนต์ใหญ่เกินกว่า 2800 ซีซี จะต้องเสียในจำนวน 50% จากราคาประเมิน

 

 

 

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มที่ลักลอบทำผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงภาษี อย่างเช่น
1. ผ่าโครงเข้ามา เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี 30% จ่ายเป็นซากอะไหล่เพียง 3%
2. นำโครงรถ และแบบ 32 เอกสารนำเข้า ไปแจ้งประกอบรถที่โรงงานประกอบรถ และติดตั้งแก๊ส เพื่อเลี่ยงการตรวจสภาพ
3. มีกรณีตรวจยึดรถซูเปอร์คาร์ ที่เป็นรถจดประกอบ เช่น เฟอร์รารี่ ลัมโบกินี่ ติดแก๊สเพื่อเลี่ยงการตรวจสภาพ บ่อยครั้ง
4. เมื่อได้เล่มทะเบียนมา จะเปลี่ยนจากการติดแก๊ส กลับไปใช้ระบบน้ำมันเหมือนเดิม ก่อนซื้อขาย
5. หลีกเลี่ยงขั้นตอนเสียภาษีตามราคาประเมิน แต่ยอมให้เจ้าหน้าที่จับปรับ ซึ่งจะเสียภาษีแค่  3 เท่า จากนั้นจะนำใบเสร็จค่าปรับ ไปจดทะเบียนได้ 

 

 

 

ปัญหารถจดประกอบในครั้งนั้น สุดท้ายทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ มีการเรียกตรวจสอบรถยนต์จดประกอบกว่า 5,000 คัน และมีการเรียกปรับจ่ายภาษีย้อนหลังกันจำนวนมาก สุดท้ายในปี 2556 ทางกระทรวงคมนาคม ได้ออกกฎกระทรวงยกเลิกรถยนต์จดประกอบดังกล่าว

 

 

 

กระทั่งมีเหตุการณ์ที่ คนร้ายสามารถเข้าระบบของกรมการขนส่ง เข้าไปแก้ไขข้อมูลรถยนต์เหล่านี้ โดยคิดค่าตอบแทนสูงถึงคันละ 1-2 ล้านบาท ในการปลอมทะเบียนเข้าไปในระบบกรมการขนส่งทางบก

 

 

 

ส่วนการสืบสวนขยายผลล่าสุด พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบความผิดของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก แต่อย่างใด