'วัดเขาชีจรรย์' ที่มา แหล่ง 'ทุนจีน' กว่า 100 ล้าน เปรียบได้ ทัวร์ศูนย์เหรียญ
เปิดที่มา ทลาย 'ทุนจีน' ยึด 'วัดเขาชีจรรย์' หลอกขาย พระเครื่อง ยึดทรัพย์ กว่า 100 ล้าน เปรียบได้ 'ทัวร์ศูนย์เหรียญ'
“วัดเขาชีจรรย์” จากวัดที่มีชื่อเสียงของ จ.ชลบุรี มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ยาวนานกว่า 20 ปี กลายกลับ อยู่ในความเงียบเหงา ภายหลังบิ๊กโจ๊ก แถลงปิดคดี ทุนจีน ยึดวัด หลอกขายพระเครื่องปลอม มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้าน โดยมี เจ้าอาวาสวัด ร่วมขบวนการ ถูกยึดทรัพย์กว่า 137 ล้าน
ทำไม “วัดเขาชีจรรย์” กลายเป็นแหล่งทุนจีน คมชัดลึก ไล่เรียงพฤติกรรม แก๊งจีน ที่ยึดวัดจนกลาย เป็นแหล่งทุนจีน รายใหญ่ ซึ่งเปรียบได้กับทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย
เปิดพฤติกรรม ทุนจีน ยึด วัดเขาชีจรรย์
การแถลงข่าวปิดคดี “ทุนจีน” ยึด “วัดเขาชีจรรย์” ของ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อหลอกขายพระเครื่องให้กับทัวร์จีน สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวจีน ที่ทำหน้าที่ขายพระในวัดได้ทั้งหมดรวม 12 ราย และขยายผลออกหมายจับชาวจีนเพิ่มเติมอีก 6 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 4 ราย หลบหนี 2 ราย โดยดำเนินคดีฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาชาวจีนได้รวมกว่า 100 ล้านบาท แต่ที่อึ้งไปกว่านั้น คือการจับกุม พระครูวิสุทธิ์ธรรมานุสิฐสมศักดิ์ เจ้าอาวาสวัด พร้อมยึดทรัพย์ รวมมูลค่ากว่า 137 ล้านบาท ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เป็นที่มาที่ทำให้ วัดดังที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ถูกจับตากลุ่ม ทุนจีน อีกครั้ง
พฤติกรรมทั้งหมด เริ่มจากกลุ่มทุนจีน ได้เข้ามาเช่าวัดเขาชีจรรย์ พร้อมทั้งตกแต่งวัดให้ดูสวยงาม โดยมีการจ่ายค่าเช่าให้วัด แล้วนำคนไทยเข้ามาขายวัตถุมงคลภายในวัด ถือเป็นการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน จากการจำหน่ายพระเครื่องปลอม ที่ไม่ผ่านการปลุกเสกนำมาหลอกขายในมูลค่าสูง และได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน โดยที่ต้นทุนเพียงองค์ละ 400 บาท แต่ให้เช่าในราคาสูงถึงองค์ละ 20,000 บาท ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับความเสียหาย
บิ๊กโจ๊ก บอกว่า พฤติการณ์ดังกล่าว เปรียบได้กับทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่กลับเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่ไทยเปิดการท่องเที่ยวในประเทศ
ย้อนรอยทุนจีนยึดวัด
เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค. 2566 รวมระยะเวลา 6 เดือน จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า กลุ่มทุนจีน ได้เช่าพื้นที่วัดเขาชีจรรย์ โดยบริษัทของคนจีนที่มีภรรยาเป็นคนไทย และมีการจดทะเบียนตั้งบริษัท โดยแจ้งว่าประกอบกิจการร้านอาหาร แต่กลับมาจำหน่ายวัตถุมงคล ซึ่งพบเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัท 100 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าในราคาเดือนละ 150,000 บาท
จากเรื่องราวทั้งหมด ทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนา ต้องเร่งขยายผลตรวจสอบวัด ที่มีการจำหน่ายวัตถุมงคล ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักพุทธฯ ที่สามารถให้ประชาชนเช่าพื้นที่ในวัดได้ โดยวัดมีอำนาจพิจารณาได้เอง ในเงื่อนไขสัญญาเช่า 3 ปี หากสัญญาเช่าเกินระยะเวลา 3 ปีที่กำหนด จะต้องส่งให้สำนักพุทธฯ เป็นผู้พิจารณา และไม่อนุญาตให้ทุนต่างชาติเช่าพื้นที่