ข่าว

เปิด 5 สายพันธุ์ 'สุนัข k-9' สหายสี่ขาผู้กล้าหาญ  ไม่หวังตำแหน่งลาภยศ

เปิด 5 สายพันธุ์ 'สุนัข k-9' สหายสี่ขาผู้กล้าหาญ ไม่หวังตำแหน่งลาภยศ

17 ส.ค. 2566

'สุนัข K-9' สหายสี่ขา ผู้กล้าหาญ ยอดฮิต '5 สายพันธุ์' นำมาฝึกในภาระกิจของตำรวจ ทหาร ไม่มีเงินเดือน ไม่มียศตำแหน่ง มีเพียงอาหาร การดูแลด้วยความรักหลังปลดประจำการ

 

17 ส.ค. 2566 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร  เป็นประธานเปิดอาคารศูนย์ฝึกสุนัข K-9 ตั้งอยู่ที่ ต.หนองปรือ อ.บางพลี  จ.สมุทรปราการ  เพื่อทำหน้าที่ในการฝึกสุนัขดมกลิ่น ใช้ในภารกิจค้นหายาเสพติด  

 

เดียวกันกรมศุลกากร ได้รับมอบ  สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์  จำนวน 2 ตัว เพื่อสนับสนุนภารกิจ  ทั้งยังส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากร  2 ราย เข้ารับการฝึกอบรมการปฏิบัติงานร่วมกับสุนัขตรวจค้น  ที่เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์  เพื่อศึกษาเทคนิคในการฝึกสุนัข การดูแล การสังเกตพฤติกรรม และการปรับตัวเข้าหากันกับสุนัข K-9

 

ศูนย์ฝึกสุนัข K-9 ต.หนองปรือ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

มาทำความรู้จักกับ สุนัข k-9 สหายสี่ขา ผู้กล้าหาญ

1. สุนัข K-9 (เค-ไนน์) คือ สุนัขที่ถูกฝึกฝนในงานของตำรวจ ทหาร และ หน่วยงานต่าง ๆ K-9 เป็นการเล่นคำย่อของคำลาติน "Canine" หมายถึงสัตว์ในตระกูลสุนัข

2. สุนัข K-9 ส่วนมากจะรวมถึงสายพันธุ์ที่ฉลาด มีสมาธิสูง และ สามารถถูกฝึกให้มีวินัยต่างๆได้

 

 

 

สุนัขK-9 มีสายพันธุ์อะไรบ้าง

1. ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากมีความเฉลียวฉลาด ฝึกสอนง่าย เชื่อฟังครูฝึก คอยได้นาน สะกดรอยตามเก่ง มีจมูกที่ดีเยี่ยม เหมาะจะใช้เขาช่วยค้นหาวัตถุระเบิดยาเสพติด และยังใช้ได้ดีในงานกู้ภัย และค้นหาผู้รอดชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นน้องหมาที่ว่ายน้ำเก่ง และมีขนสองชั้นช่วยกันความหนาวเย็น จึงเหมาะอย่างยิ่งจะใช้ในงานค้นหาผู้ประสบภัยทางน้ำ 

 

สายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์

 

 

 

2. เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherd) คนไทยจะนิยมเรียกว่า  "อัลเซเชี่ยน" เป็นน้องหมาที่มีสัญชาตญาณที่ดี ตอบสนองสิ่งต่าง ๆ ได้ไว เฉลียวฉลาด เชื่อฟังครูฝึกมาก ไม่ตื่นเต้นตกใจง่าย สงบเยือกเย็น จึงเหมาะจะใช้ในงานควบคุมฝูงชน หรือในบริเวณที่เสียงอึกทึกครึกโครม  เหมาะกับใช้ในงานอารักขา ตรวจตราความเรียบร้อย งานรักษาความปลอดภัยทั่วไป และการตรวจค้นหาวัตถุระเบิด

 

สายพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด

 

 

 

3. เบลเจียน มาลินอยส์ (Belgian Malinois) มีความกล้าหาญ ฉลาด เชื่อฟัง ไม่ก้าวร้าว นิยมใช้ในงานภาคสนาม จะเคลื่อนย้ายก็สะดวกรวดเร็ว และเมื่อใช้ในงานอารักขา ผู้คนก็จะไม่รู้สึกตกใจ เพราะเป็นน้องหมาที่มีขนาดปกติ ตัวไม่ใหญ่ นอกจากนี้ยังเหมาะจะใช้ในงานค้นหาวัตถุระเบิด สะกดรอยตาม จับคนร้าย 

 

สายพันธุ์เบลเจียน มาลินอยส์

 

 

 

4. ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler) เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะอย่างยิ่งจะใช้เป็นสุนัข K-9 เพราะมีความกระตือรือร้น ตั้งใจมุ่งมั่น เฝ้าระวังสูง เชื่อฟังคำสั่งครูฝึกมาก มีพละกำลังมหาศาล สามารถลากจูงของหนัก ๆ ได้ดี จึงเหมาะจะใช้ในงานกู้ภัย รวมทั้งงานทั่วไปของตำรวจและทหาร เช่น เฝ้ายาม งานอารักขา ค้นหาผู้รอดชีวิต  

 

สายพันธุ์ร็อตไวเลอร์

 

 

 

5. บีเกิล (Beagle) หมาน้อยน่ารักมาใช้ในงานสุนัข K-9 ในต่างประเทศได้รับความนิยมสูง เพราะแม้น้องหมามีขนาดเล็ก แต่ใจกลับใหญ่ไม่แพ้น้องหมาโต บีเกิล มีนิสัยตื่นตัวเสมอ กระตือรือร้น สะกดรอยเก่ง ดมเก่งมาก จึงนิยมใช้ในงานดมยาเสพติด ค้นหาสิ่งผิดกฎหมาย สะกดรอยตามคนร้าย และด้วยความที่น้องหมา น่ารักเป็นมิตร เมื่อนำไปทำงานในที่ชุมชน จึงไม่สร้างความหวาดกลัวให้ผู้คน จึงมักพบน้องบีเกิล K-9 ทำงานตามสนามบินต่าง ๆ   

 

สายพันธุ์บีเกิล

 

 

 

การฝึกสุนัข K-9 มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในงานด้านการทหาร ตำรวจ และกู้ภัย
1. อารักขาบุคคลสำคัญ
2. ลาดตระเวน โดยเฉพาะในการทหารเมื่อต้องเข้าไปในเขตอันตราย
3. เฝ้ายามตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเน้นน้องหมา K-9 ที่สงบ รอนาน ๆ ได้ดี
4. สะกดรอยตามคนร้าย ซึ่งเมื่อน้องหมาพบสัญญาณของคนร้าย น้องหมาจะถูกฝึกให้ส่งสัญญาณเงียบ คือยืนนิ่ง หูตั้ง ขนพอง หางตั้งขึ้น
5. ค้นหาสิ่งต้องสงสัย เช่น วัตถุระเบิด ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย จึงต้องเน้นสุนัขที่ดมเก่ง และกรณีที่ไม่ใช่วัตถุระเบิดจะต้องคาบเอาสิ่งนั้นออกมาได้ แต่หากเป็นระเบิดน้องหมาจะหมอบนิ่ง และเฝ้าบริเวณนั้นเพื่อดูแลความปลอดภัย
6. ค้นหาผู้รอดชีวิต หรือผู้สูญหาย จึงต้องเน้นน้องหมาที่ทำงานเก่งและเห่าเสียงดัง เพื่อเรียกให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยผู้รอดชีวิตได้เร็วที่สุด
7. จู่โจมคนร้าย หรือเข้ากัดคนร้าย ซึ่งสุนัข K-9 จะถูกฝึกมาให้กัดอวัยวะบางจุดของคนร้าย เพียงเพื่อสกัดให้หยุด มิได้เพื่อทำร้ายจนถึงตาย

 

 

 

คุณสมบัติของสุนัข K-9
1. เป็นน้องหมาตัวผู้เท่านั้น เพราะถ้ามีสุนัข K-9 ตัวเมีย จะทำให้ตัวผู้ถูกเบี่ยงเบนความสนใจ
2. น้องหมาจะต้องมีอายุ 4-6 เดือน
3. สามารถผ่านการทดสอบลักษณะนิสัยความตื่นตัว และความว่องไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ
4. ต้องเชื่อฟังครูฝึกหรือเจ้านายมาก
5. มีความกล้าหาญแต่ไม่ก้าวร้าว
6. มีความสามารถในการรับรู้ได้ดี เน้นใช้งานให้เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัว เช่น ตาดี ดมเก่ง หูไว 
7. มีสมาธิ ไม่วอกแวก มุ่งอยู่กับงานของตนเท่านั้น

 

 

 

สุนัข K-9 ต้องฝึกเรื่องอะไรบ้าง

1. สุนัข K-9 ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์การสุนัขทหาร (กรมการสัตว์ทหารบก) จะเป็นผู้เลือกสุนัขที่ตรงตามคุณสมบัติ
2. ต้องฝึกฝนทักษะความสามารถต่าง ๆ แยกฝึกตามหน้าที่ของแต่ละตัว 

3. ครูฝึกของโรงเรียนฝึกสุนัขทหาร จะคอยสังเกตว่าน้องหมาตัวนั้นมีความสามารถใด ตอบสนองกับสิ่งไหน และเหมาะจะใช้งานในด้านใดเป็นพิเศษ
4. ฝึกให้น้องหมามุ่งไปที่ทักษะนั้น ๆ โดยเฉพาะ เช่น สุนัขเฝ้ายาม สุนัขสะกดรอย สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด สุนัขลาดตระเวน สุนัขตรวจค้นยาเสพติด

สุนัขดมกลิ่น

 

 

 

สุนัข K-9 ในโรงเรียนฝึกสุนัขทหาร ต้องฝึกฝนทักษะประมาณ 4 เดือน
1. สัปดาห์ที่ 1-2 จะฝึกทำความคุ้นเคย ฝึกคำสั่งพื้นฐานเพื่อให้สุนัขรู้จักเชื่อฟัง  
2. สัปดาห์ที่ 3-12 จะฝึกแยกตามประเภทหน้าที่ของน้องหมาตัวนั้น ๆ
3. สัปดาห์ที่ 13-16 จะฝึกภาคสนามหรือนอกสถานที่

 

 

 

สุนัข K-9 มีการฝึกแตกต่างกันไป
1. สุนัข K-9 เฝ้ายาม หรือการอารักขา จะเน้นฝึกคำสั่งพื้นฐาน "ชิด นั่ง คอย หมอบ" และครูฝึกจะกระตุ้นความดุและความกล้าในตัวน้องหมาด้วยการให้กัดกระสอบ เพื่อยั่วยุให้เขาเกิดแรงขับ หากเกิดสถานการณ์จริงที่อาจมีผู้ร้ายเข้าจู่โจม นอกจากนี้ยังต้องฝึกเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติ และต้องจู่โจมเมื่อได้รับคำสั่งแล้วเท่านั้น  
2. สุนัข K-9 เพื่อตรวจค้นทุ่นระเบิด ยาเสพติด หรือสิ่งอื่น ๆ จะต้องฝึกเรื่องการดมกลิ่นเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงต้องฝึกการแยกกลิ่นให้ได้ คือต้องรู้จักจำกลิ่นตัวเอง ครูฝึก และคนอื่นได้ ทั้งยังต้องแยกกลิ่นแปลกปลอมหลากหลายประเภทได้ 3. สุนัข K-9 สะกดรอย ต้องเน้นฝึกเรื่องความคล่องตัว เรียนรู้เส้นทางการหลบหนีของคนร้าย
4. สุนัข K-9 ลาดตระเวน ต้องเน้นฝึกเรื่องการเรียนรู้ตำแหน่งของคนร้าย อุปกรณ์กำบังหรือพรางตัวของคนร้าย ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อตรวจพบความผิดปกติ น้องหมาจะต้องแจ้งด้วยวิธีสื่อสารที่เงียบที่สุด เพื่อไม่ให้คนร้ายไหวตัว ซึ่งจะเป็นการนั่งลงเบา ๆ หรือสัญญาณอื่นตามที่ฝึกกันมา  
5.หลังฝึกจบ 4 เดือน ครูฝึกก็จะทดสอบน้องหมา และเมื่อเขาสอบผ่าน น้องหมา จะถูกส่งกลับไปยังหน่วยงานเพื่อปฏิบัติงานจริง

 

 

 

สุนัข K9 ปลดประจำการเมื่อไหร่

1. สุนัข K-9 จะมีช่วงเวลาทำงานตั้งแต่อายุประมาณ 1-7 ปี และจะปลดประจำการเมื่ออายุได้ 8 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เสื่อมลงแล้ว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และถึงเวลาที่ควรให้น้องหมาได้พัก
2.ก่อนออกจากชีวิตการทำงานของน้องหมา หน่วยงานนั้น ๆ จะมีพิธีปลดประจำการ ปลดปลอกคอ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของน้องหมาผู้เสียสละ
3.สุนัข K-9 ที่ปลดประจำการก็จะวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป เช่น บางตัวอยู่บ้านครูฝึกเพราะผูกพันกันมาก ขณะที่สุนัข K-9 ส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลจากหน่วยงานนั้นจนสิ้นอายุขัย 

 

 

 

สำหรับ สุนัข K-9 ไม่ได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนเหมือนคน และไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญ แต่น้องหมา จะได้รับแค่อาหาร และการดูแลเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่น้องหมา ต้องการในช่วงท้ายของชีวิตคือการได้พักผ่อน ได้รับความรัก และการเอาใจใส่ดูแลที่มากขึ้น