ข่าว

ย้อนคดีมหากาพย์ 'ทุจริตสร้างโรงพัก-แฟลต ตร.' ก่อนลุ้นคำพิพากษาวันนี้

ย้อนคดีมหากาพย์ 'ทุจริตสร้างโรงพัก-แฟลต ตร.' ก่อนลุ้นคำพิพากษาวันนี้

22 ส.ค. 2566

ย้อนคดีมหากาพย์ "ทุจริตสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง และ แฟลตตำรวจ" มูลค่ากว่า 5,800 ล้านบาท ก่อนฟังคำพิพากษา อุทธรณ์วันนี้ ด้านทีมทนายเผย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" มั่นใจกระบวนการยุติธรรม

คดีทุจริตการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือ โรงพักทดแทน 396 แห่ง และแฟลตตำรวจ 163 หลัง  นับเป็นคดีมหากาพย์ ยาวนานกว่า 10 ปี ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกทั้งหมด 6 ราย ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, 2. พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, 3.พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, 4.พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, 5.บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ 6. นายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)


ต่อมา ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์คดี และศาลนัดอ่านคำพิพากษา ในวันอังคารที่่ 22 ส.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ 

 

 

ศาลฎีกา นัดอ่านอุทธรณ์ คดีทุจริตสร้างโรงพัก-แฟลต ตร.

 

 

ก่อนที่จะถึงวันชี้ชะตา ในชั้นอุทธรณ์ คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่งประเทศ และแฟลตตำรวจ คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวนและหาหลักฐานมากว่า10 ปี เริ่มต้นขึ้นในสมัยที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี 

 

 

ย้อนมหากาพย์ ทุจริตสร้างโรงพัก-แฟลต ตร.

 

 

นายสุเทพ ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน และ แฟลตตำรวจ เมื่อเดือน มิ.ย. 2552  ด้วยงบประมาณ 5,848 ล้านบาท โดยมีการเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือน มี.ค. 2554  ซึ่งจะมีระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างในปี 2556 แต่การก่อสร้างไม่คืบหน้า เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน  ส่งผลให้หลายสถานีตำรวจต้องหาสถานที่ในการทำงานเป็นการชั่วคราว 

 

ต่อมาในปี 2555 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์  ซึ่งขณะนั้น เป็นสส.พรรครักประเทศไทย ได้อภิปรายถึงโครงการดังกล่าว จนกระทั่งมีการส่งเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รวบรวมพยานหลักฐานเสนอ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวน 

 

 

นายชูวิทย์  ตั้งโต๊ะแถลงเมื่อเดือน ก.ย.2565 หลังอภิปรายเปิดประเด็นผ่านไป 10 ปี

 

 

ภายหลังการสอบสวน ป.ป.ช. มีมติยื่นฟ้อง โดยระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย.2552-18 เม.ย.2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จำเลยที่ 1เเละที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดย นายวิศณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ 
 

 

ย้อนมหากาพย์ คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน

 

 

ขณะที่ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย

 

จึงขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1,2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3,4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10,12 กับลงโทษจำเลยที่ 5 ,6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

 


ต่อมา วันที่ 20 ก.ย. 2565  ซึ่งเป็นวันพิพากาษา องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา พิเคราะห์แล้วรับฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนให้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เเละวิธีจัดสรรงบประมาณรายปี ส่วนวิธีที่ทาง สำนักงานตำรวจเเห่งชาติเสนอรูปเเบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเพียงเหตุผลประกอบ ซึ่ง ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและจัดสรรงบประมาณให้ไม่เกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างและวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่ใช่อำนาจของ ครม.ซึ่งเป็นอำนาจของหน่วยงานรัฐคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

 

การที่จำเลยที่ 1 อนุมัติการจัดจ้างก่อสร้างแบบรายภาค 1-9 ภาค และเปลี่ยนเป็นวิธีอิเล็กทรอนิกส์รวมกันในครั้งเดียวโดยไม่เสนอให้ ครม.อนุมัติ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

 

จำเลยที่ 2 ฐานะหัวหน้าหน่วยงานรักษาการณ์ ผบ.ตร.ได้ใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบตามระเบียบครม.การจัดทำรูปแบบ แนวทางรวมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและขออนุมัติจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงาน และได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลยพินิจเห็นชอบตามระเบียบสำนักนายกฯ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

 

ส่วนจำเลยที่ 3-4 เป็นประธานและเลขานุการคณะกรรมการประกวดราคาฯ ตามลำดับ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ครม. ในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในการเสนอราคา แม้ว่าจำเลยที่ 3-4 ไม่ได้เสนอบัญชีปริมาณวัสดุให้ครบถ้วน แต่ราคาทั้งหมดไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในภาพรวม  และจำเลยที่ 5 เป็นเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเอง 

 

เมื่อพิจารณาเอกสารความเห็น ย่อมไม่เกิดความเสียหายและไม่ปรากฎว่าพบว่าจำเลยที่ 3-4 แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบการกระทำจึงไม่เป็นความผิด 

 

ส่วนจำเลยที่ 5-6 โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5-6 กระทำความผิดด้วย  จึงมีมติเสียงข้างมากพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-6
 

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังได้ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 9 คน กรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการตำรวจ ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding  และเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาล
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษา พิเคราะห์หลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 9 มีการกระทำผิดจริงสั่งจำคุกจำเลยทั้ง 9 ราย 

 

ทั้งนี้  นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดเผยว่าทั้งทีมทนายความ และนายสุเทพ มีความมั่นใจ ไม่มีความกังวล ไม่มีความตื่นตระหนก เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ได้ผ่านมาหมดแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ได้นำเสนอต่อศาลชั้นต้นไปหมดแล้ว และได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่