เปิดคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ฉบับเต็ม ยกฟ้อง 'สุเทพ' คดี ก่อสร้างโรงพักทดแทน
เปิดคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ฉบับเต็ม คดีประมูลสร้างโรงพักทดแทน จำนวน 396 หลังศาลมีพิพากษายืน "ยกฟ้อง" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 6 คน
22 ส.ค. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.11/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. /2566 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ 1 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จำเลยที่ 2 พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ จำเลยที่ 3 พันตำรวจโทสุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 4 บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 5 นายวิศณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6
คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ฟ้องว่า จำเลยที่ 1- 4 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 393 หลัง วงเงิน 6,298,000,000 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 9 มิ.ย.2552 ถึงวันที่ 18 เม.ย.2556 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิด โดยมีจำเลยที่ 5 บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และจำเลยที่ 6 นายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ จำเลยที่ 3 และที่ 4 กล่าวคือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17ก.พ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ โดยให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัด (ตำรวจภูธรภาค และตำรวจภูธรจังหวัด)
มติ ครม. ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 มีบันทึกขออนุมัติยกเลิกแนวทางการจัดจ้างแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค และขออนุมัติประกวดราคา จัดจ้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว จำเลยที่ 1 อนุมัติโดยไม่นำเสนอ ครม.พิจารณา มีผลทำให้ราคากลางมีวงเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิม 6,100,538,900 บาท ทำให้ไม่สามารถคัดเลือกผู้เสนอราคาเพื่อดำเนินการตามโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้ เนื่องจากจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 เสนอราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
ต่อมาจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ยื่นบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง (Bill of Quantities หรือ BOQ) เสนอราคาของเสาเข็มต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงหน่วยละ 3,840 บาท และต่ำกว่าราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงหน่วยละ 5,530 บาท จำเลยที่ 3 รับเอกสารของจำเลยที่ 5 ไว้แล้วมอบให้จำเลยที่ 4 โดยไม่นำเสนอบัญชีปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างต่อคณะกรรมการประกวดราคา เป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 ในการคิดคำนวณส่วนต่างกรณีมีงานลดหรืองานเพิ่มจากการตอกเสาเข็ม จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา10 และมาตรา 12 จำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 "จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ"
วันที่ 20 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง "พิพากษายกฟ้อง"
โจทก์อุทธรณ์เมื่อวันที่ และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์เมื่อวันที่
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาว่า มติ ครม. ครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 ได้อนุมัติหลักการซึ่งรวมถึงวิธีการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัดในภูมิภาคด้วย อันมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่
เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 10 กำหนดว่า ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องกำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้ ครม. มีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบหรือมีมติในเรื่องใดให้ชัดเจน ถ้า ครม. มีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องที่เสนอ ให้ถือว่ามติ ครม. มีผลผูกพันเฉพาะหลักการแห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของ ครม. จะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติ เห็นชอบ หรือมีมติ แสดงว่ารายละเอียดข้อใดที่มติ ครม.ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนย่อมไม่ถือว่ามีผลผูกพัน
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมติ ครม. ครั้งที่ 7/2552 แล้ว ไม่มีข้อความระบุอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าจะต้องดำเนินการโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) ซึ่งได้ความจากนาย ส. และนาย ธ. อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความว่า มติ ครม. ในการประชุม ครม.ครั้งที่ 7/2552 ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้าง พยานทั้งสองปากมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการประชุม ครม.จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ส่วนข้อความในมติ ครม.ตอนถัดไปที่ว่า “...โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ...” นั้น ย่อมหมายถึงความเห็นที่อยู่ในหน้าที่ของสำนักงบประมาณเท่านั้น นอกจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้ขออนุมัติในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง อันสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุม ครม. พ.ศ.2548 มาตรา 4 ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเอง กรณีรับฟังได้ว่า มติ ครม.ในการประชุม ครม. ครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ ไม่รวมถึงวิธีการจัดจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจทบทวนได้ แม้จำเลยที่ 1 จะใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 วันก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธผิดปกติวิสัยส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1ได้เข้าไปมีส่วนริเริ่มหรือใช้ให้เจ้าพนักงานเสนอความเห็นเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าแบบใดต่างก็เลือกดำเนินการได้และมีขั้นตอนประกาศเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมได้ ไม่อาจฟังดังที่โจทก์อ้างว่าการรวมการจัดจ้างไว้ที่ส่วนกลางจะทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเสมอไป
ส่วนที่คณะกรรมการ กำหนดราคากลางชุดใหม่ได้กำหนดราคากลางวงเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กำหนดจำนวน 6,100,538,900 บาท ก็ดี หรือผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้ก็ดี ล้วนแต่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปรับรู้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์มิได้ไต่สวนและฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมติ ครม.ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.
นอกจากนี้ การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเกิดจากข้อทักท้วงของผู้ปฏิบัติงานเองที่เสนอมาตามขั้นตอนปกติตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีการมอบหมายงานตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 279/2552 ลงวันที่ 17 พ.ย.2552 แล้ว โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มิได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมาแต่แรก และข้อทักท้วงของเจ้าหน้าที่พัสดุข้อหนึ่งก็สอดคล้องกับที่กรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือตอบข้อหารือระบุว่า กรณีที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในครั้งเดียวกัน หากไม่มีเหตุผลประการใดที่ทำให้ส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการในครั้งเดียวกันได้แล้ว ส่วนราชการต้องจัดซื้อหรือจัดจ้างในครั้งเดียวกัน และเมื่อพิจารณาต่อไปเห็นได้ว่า การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของจำเลยที่ 2 นั้นยังคงใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประกวดราคาเช่นเดิมซึ่งจำเลยที่ 1 เคยมีคำสั่งเห็นชอบมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 คงเสนอขอเปลี่ยนแปลงจากการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) มาเป็นการเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งวิธีการเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ได้เคยมีการศึกษาข้อดีข้อเสียกันมาแล้วตั้งแต่ในคราวก่อน กรณีจึงมีเหตุผลและข้อมูลที่จำเลยที่ 2 จะเสนอให้จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบเช่นเดิม
นอกจากนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเห็นชอบแล้วก็ยังต้องมีขั้นตอนการประกาศประกวดราคาต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีผู้เสนอราคาแข่งขันกัน 5 ราย และแข่งขันสู้ราคากันถึง 73ครั้ง ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 เสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ถึงขั้นใกล้ชิดต่อผลสำเร็จในการกำหนดตัวผู้รับจ้างล่วงหน้าหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นได้
เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้กระทำการอื่นใดนอกเหนือจากไปนี้อีก พยานหลักฐานจากการไต่สวนจึงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ส่วนที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางชุดใหม่ได้กำหนดราคากลางวงเงินสูงกว่าราคากลางเดิมนั้น ก็เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง และได้ความว่าเหตุที่ราคากลางสูงขึ้นเป็นผลมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้าง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเดิม ราคากลางใหม่มิได้มีผลกระทบทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนที่ต่อมาผู้เสนอราคาไม่ดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการบริหารสัญญา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) หรือเป็นกรณีเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ตาม ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 2 คาดเห็นได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นกระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2532 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1002/ว6 ลงวันที่ 16 ก.พ.2532 เรื่อง การประเมินราคาในงานประกวดราคาจ้างก่อสร้าง เอกสารหมาย จ.116 มิได้มีข้อกำหนดโดยชัดแจ้งให้คณะกรรมการประกวดราคามีหน้าที่ต้องพิจารณารายละเอียดและราคาต่อหน่วยของวัสดุแต่ละรายการที่ปรากฏในบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา สำหรับเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 15/2553 ลงวันที่ 29 มิ.ย.2553 แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการประกวดราคาจะพิจารณาจากราคารวมเป็นสำคัญ
คดีนี้เมื่อพิจารณาจากราคารวมแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคารวม เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง จำนวน 540,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.45 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคาต่ำจนถึงขั้นคาดหมายได้ว่าจะไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้
นอกจากนั้น โจทก์คงกล่าวหาว่าบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง (BOQ) ของจำเลยที่ 5 มีรายการผิดปกติเพียงรายการเดียวคือ รายการเสาเข็มมีราคาต่ำ โดยจำเลยที่ 5 ยื่นเสนอราคาเสาเข็ม ราคาหน่วยละ 2,520 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดราคาไว้หน่วยละ 6,360 บาท และต่ำกว่าราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดราคาไว้หน่วยละ 8,050 บาท แต่ข้อนี้ได้ความว่าผู้เสนอราคาสามารถปรับลดราคาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบางรายการลงได้ตามศักยภาพในการบริหารต้นทุน ราคา และกำไรของผู้เสนอราคา เพียงแต่จะต้องอยู่ภายในกรอบวงเงินที่เสนอและได้รับการยืนราคาครั้งสุดท้าย
จำเลยที่ 5 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 5 จะปรับลดราคาในส่วนเสาเข็มตอกให้เหลือหน่วยละ 2,520 บาท ได้ อันเป็นวิสัยของการเสนอราคาที่จะต้องแข่งขันกันอย่างเสรีตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพวัสดุนั้น อีกทั้งค่างานเสาเข็มเป็นเงินทั้งสิ้น 233,089.50 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจ้างตามสัญญาจ้าง จำนวน 5,848,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณอัตราร้อยละ 3.98 ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าลำพังเฉพาะราคาเสาเข็มรายการเดียวยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องเสนอไม่รับราคารวมทั้งหมดของจำเลยที่ 5
นอกจากนั้น กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องเสนอราคาสูงผิดปกติและรายการเสาเข็มก็ไม่ใช่รายการที่เป็นหัวข้อใหญ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1002/ว6 ลงวันที่ 16 ก.พ.2532 เรื่อง การประเมินราคาในงานประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ย่อมไม่มีเหตุที่คณะกรรมการประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 5 มาเจรจาปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างเสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แต่ก็ไม่มีข้อพิรุธประการใดว่าจะเป็นการปกปิดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนที่โจทก์อ้างว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักค่าเสาเข็มได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริงนั้น ไม่ปรากฏว่าโดยปกติทั่วไปผู้ประกอบการจะคำนึงถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่ในชั้นยื่นเสนอราคา จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 3และที่ 4 มีเจตนาวางแผนเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 5
นอกจากเรื่องราคาเสาเข็มดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่ามีการกำหนดตัวจำเลยที่ 5 ไว้เป็นผู้รับจ้างล่วงหน้า หรือสมรู้ร่วมคิดกันกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือสั่งการให้เลือกจำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการเสนอราคาโดยเฉพาะเจาะจง อันจะเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง "อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
ปัญหาสุดท้ายว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ซึ่งการสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นั้นจะต้องมีผู้อื่นเป็นตัวการในการกระทำผิด หากเป็นกรณีที่ไม่มีตัวการกระทำผิดในความผิดดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในความผิดนั้น ก็ย่อมไม่มีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน
เมื่อคดีนี้ได้วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และอุทธรณ์จำเลยที่ 2อีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
พิพากษายืน