ข่าว

เช็กก่อนเชื่อ เตือนภัยหลอกลงทุนออนไลน์ เสียหายกว่า 1.2 พันล้านบาท

เช็กก่อนเชื่อ เตือนภัยหลอกลงทุนออนไลน์ เสียหายกว่า 1.2 พันล้านบาท

23 ส.ค. 2566

ตำรวจเตือนภัยออนไลน์ พบมีการหลอกลงทุนออนไลน์ กว่า 2.4 หมื่นเคส ความเสียหายกว่า 1.2 พันล้านบาท นำรูปผู้บริหารและโลโก้บริษัทดัง มาหลอกให้ร่วมลงทุน

23 ส.ค. 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อม พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท.
 

โดยมี น.ส.อาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ประเทศไทย บ.อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด มหาชน ร่วมกันแถลงเตือนภัยออนไลน์

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 1 มี.ค. 2565 ถึง 31 ก.ค. 2566 รับแจ้ง 3 แสนกว่าเคส ความเสียหายกว่า 4.1 พันล้านบาท สถิติการรับแจ้งความหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในห้วงเวลาเดียวกัน รับแจ้ง 24,000 กว่าเคส คิดเป็น 8.14 % ของสถิติการรับแจ้งทั้งหมด ความเสียหายกว่า 1.2 พันล้านบาท คิดเป็น 35 % ของความเสียหายทั้งหมด สำหรับสถิติการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในห้วงสัปดาห์ที่แล้วอยู่อันดับ 6 สัปดาห์นี้พุ่งมาอยู่อันดับ 4 โดยรับแจ้ง 274 เคส ความเสียหาย 188 กว่าล้านบาท

 

ตำรวจเตือนภัยหลอกลงทุนออนไลน์

 

 

 

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม 2566 คนร้ายใช้วิธีการหลอกผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ 5 อันดับ ดังนี้ Facebook 145 เคส 107,593,333.39 บาท Website 34 เคส 8,604,561.4 บาท Line 7 เคส 815,7381.30 บาท Twitter 1 เคส 7,000 บาท TikTok 1 เคส 60,000 บาท โดยนำรูปผู้บริหาร และใช้โลโก้ บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น CP AMATA คาราบาวแดง และเครื่องหมายและมีโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ

 

 

 

ช่วงแรกหลอกให้ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท ได้ผลตอบแทน 30-70% เมื่อเหยื่อหลงเชื่อทักไปสอบถาม จะเป็นการสนทนาทาง Messenger(ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ) จากนั้นจะแนะนำอาจารย์ หรือโค๊ด หรือโบรกเกอร์ เพื่อให้คุยทาง Line หรือเข้ากลุ่ม Open Chat พูดคุยกับสมาชิก โดยมีหน้าม้า แนะนำอ้างว่าสามารถสร้างกำไรได้ มีการโพสต์ภาพสลิป รับเงินผลตอบแทน ให้เหยื่อหลงเชื่อ ช่วงแรกเมื่อเหยื่อโอนเงินลงทุน คนร้ายจะโอนเงินทุนพร้อมกำไรคืนให้เหยื่อ 

 

ตำรวจเตือนภัยหลอกลงทุนออนไลน์

 

 

 

จากนั้นจะชวนเข้ากลุ่ม VIP มีสมาชิก 5-6 คน เพื่อร่วมกันลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น โดยมีผู้แนะนำการลงทุน 1 คน ที่เหลือก็จะเป็นหน้าม้า ร่วมกันหลอกเหยื่อให้โอนเงินลงทุน หากเหยื่ออยากยกเลิกการลงทุน หน้าม้าจะอ้างว่าหากยกเลิกหรือถอนการลงทุนจะทำให้คนอื่นไม่สามารถถอนเงินได้ และผลประโยชน์ที่ลงทุนไปพร้อมผลตอบแทนที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์(ปลอม) ก็จะไม่ได้รับคืน จึงต้องลงทุนเพิ่ม สุดท้ายเสียเงินไปจำนวนมาก

 

 

 

ด้าน ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า จากการที่มีเพจปลอมยังระบาดต่อเนื่อง สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อมตะ มีความไม่สบายใจ และไม่เคยนิ่งนอนใจ ประสานกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จนสามารถจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องมีการตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น 

 

 

 

โดยเฉพาะให้สังเกตเพจของกลุ่มมิจฉาชีพจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ มีอายุไม่นาน ในขณะที่เว็บไซต์ และเพจของกลุ่มอมตะ มีการจดทะเบียนและก่อตั้ง ในปี 2012 ซึ่งมีอายุการดำเนินงานมากกว่า 10 ปี และขอให้สังเกตจากเครื่องหมาย Blue Badge หรือเครื่องหมายถูกสีฟ้า ที่แสดงบัญชีทางการว่าเป็น Page หลักของอมตะ ยืนยันว่าทาง อมตะไม่มีการเสนอ หรือเชิญชวนให้ประชาชน มาลงทุนผ่าน เฟซบุ๊กหรือติดต่อผ่านระบบ Line ที่ใช้วิธีการจูงใจให้ผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่ของบริษัท ได้ที่เบอร์โทร. 0610350007 และ 02-7920000

 

 

 

ขณะที่ น.ส.อาชินี กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับปัญหาของภัยหลอกลงทุน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้แจ้งเตือนผู้ลงทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ “Investor Alert” การดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถเช็กรายชื่อผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ที่ แอปพลิเคชัน SEC Check First หรือ www.sec.or.th/checkfirst หรือ สอบถามหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ โทร 1207

 

เช็กก่อนเชื่อ เตือนภัยหลอกลงทุนออนไลน์ เสียหายกว่า 1.2 พันล้านบาท

 

 

 

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้มีเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์ เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊ก ทำให้เพจขึ้นมาในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google Bing safari เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊ก ก็จะคุยกับระบบ AI และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย

 

 

 

จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็นทนายความเพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วจะอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้ ก่อนส่งต่อให้หัวหน้า ที่เป็นเจ้าหน้าที่ IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เว็บพนันออนไลน์ และให้เหยื่อสมัคร และเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนัน แต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเอง ยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว และขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม

 

 

 

ข้อแนะนำ

1.ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใด ให้ประชาชนโอนเงิน เพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์ หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม เพื่อให้ได้เงินคืน

2.หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com หรือแจ้งความสถานีตำรวจท้องที่ ได้ทั่วประเทศ

3.หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191

 

 

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com