กวาดล้างหนัก 'แก๊งเคาะกระจก' นายหน้า 'ต่อทะเบียน-พ.ร.บ.'
ตำรวจสน.บางซื่อ กวาดล้างหนัก 'แก๊งเคาะกระจก' นายหน้า 'ต่อทะเบียน' ลดลง เผยมีทั้ง ไม่มีสังกัด และมีสังกัด ครึ่งเดือนจับไปกว่า 40 ราย ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือโชว์ป้ายหน้าร้านเรียกลูกค้าแทน
31 ส.ค. 2566 ปัญหาผู้ใช้รถใช้ถนนรอบกรมการขนส่งทางบก มักจะเจอบ่อยครั้งช่วงที่มีการต่อ พ.ร.บ. หรือ ต่อภาษีรถยนต์ จะมีกลุ่มชายฉกรรจ์ขี่รถจักรยานยนต์ ประกบรถยนต์ แล้วเคาะกระจกสอบถามว่า "ต่อไหมครับพี่" นั่นก็คือ "แก๊งเคาะกระจก" หน้าม้ารับต่อภาษีรถยนต์
ในส่วนนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางซื่อ เอาจริงเอาจังในการปราบปราม จับกุม "แก๊งเคาะกระจก" อย่างจริงจัง จนทุกวันนี้ "แก๊งเคาะกระจก" เริ่มลดน้อยลง
พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ ผกก.สน.บางซื่อ เปิดเผย "คมชัดลึก" ว่า แก๊งเคาะกระจก ส่วนใหญ่จะจับกลุ่มอยู่รวมกันหลายคัน ทั้งถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และภายในซอยข้างกรมการขนส่งทางบก ซึ่ง "แก๊งเคาะกระจก" จะสุ่มเลือกรถยนต์ที่ขับเข้ามาทำธุรกรรม กับกรมการขนส่งทางบก โดยจะขี่รถจักรยานยนต์ ตามประกบแล้วเคาะกระจก สอบถามผู้ขับขี่ว่ามาทำอะไร ต่อทะเบียนหรือไม่ ถ้าตกลงจะเดินเรื่องทำธุรกรรมให้ เมื่ออีกฝ่ายตกลง ก็จะพาไปยังบริษัทรับต่อภาษี ที่ตัวเองสังกัด ตั้งอยู่รอบๆ กรมการขนส่งทางบก เพื่อขอเอกสารต่างๆที่จะใช่ต่อภาษี หรือ ต่อ พ.ร.บ. โดยมีการเรียกค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มในการดำเนินการ ซึ่งบริษัท บางแห่งจะมีลูกน้อง 5-10 คน ที่จะคอยส่งลูกน้อง "แก๊งเคาะกระจก" ไปหาลูกค้ามาที่ร้าน ทางลูกค้าที่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องรอคิวนาน ก็จะตอบตกลงนั่งรอที่ร้านอย่างเดียว เพื่อให้นายหน้าเหล่านี้ไปดำเนินการแทน
ผกก.สน.บางซื่อ กล่าวว่า ที่ผ่านมา "แก๊งเคาะกระจก" มีจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน การจราจรติดขัด บางครั้งเหมือนการข่มขู่คุกคาม จนปัจจุบันนี้ทางสน.บางซื่อ เอาจริงเอาจังในการปราบปราม "แก๊งเคาะกระจก" ลดน้อยลง เนื่องจากมีการกวาดล้างจับกุมอย่างจริงจัง โดยจับปรับ "แก๊งเคาะกระจก" ในข้อหาหลักคือ ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท แต่ละครั้งก็จะปรับรายละ 500 บาท
นอกจากนี้ยังแจ้งข้อกล่าวหา "แก๊งเคาะกระจก" ตามความผิดอื่นๆอีกเช่น ใช้รถผิดประเภท ไม่มีใบขับขี่ แต่ละวันสามารถจับกุมได้ 3-5 ราย หนึ่งสัปดาห์ จับกุมได้ถึง 30-40 ราย แต่อย่างไรก็ตาม "แก๊งเคาะกระจก" ก็ยังไม่หมดไป แต่ก็ลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา
ส่วนการแก้ปัญหานอกจากระดมกำลังกวาดล้างจับกุมแล้ว ยังขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ กรมการขนส่งทางบก และสน.บางซื่อ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมีการประชุมหารือกันจนได้ข้อสรุปในทางที่ดีขึ้น เมื่อผู้ประกอบการ ยอมรับว่า "แก๊งเคาะกระจก" เป็นลูกน้องที่ร้าน และหลังจากนี้ผู้ประกอบการ ก็จะไม่ส่งลูกน้องไป ขี่จักรยานยนต์ไปเคาะกระจกอีก แต่จะใช้วิธีการ ติดป้าย ชูป้าย หน้าร้านแทน เพื่อเรียกลูกค้าที่ต้องการให้ทางร้านดำเนินการต่อ พ.ร.บ. หรือ ต่อภาษี
ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการร้านค้า นั้น ตำรวจ ยังไม่สามารถเอาผิดได้ ซึ่งเอาผิดได้เฉพาะ "แก๊งเคาะกระจก" ที่เป็นลูกน้องเท่านั้น ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และหลังจากนี้ก็จะจับปรับให้สูงขึ้น จนทำให้ "แก๊งเคาะกระจก" ไม่กล้าออกไปเคาะกระจกรถเรียกลูกค้าอีก
พ.ต.อ.ภูวดล แนะนำผู้ที่จะมาติดต่อทำธุรกรรมกับกรมการขนส่งทางบก ให้ไปติดต่อเองดีกว่า แม้จะเสียเวลาบ้าง แต่จ่ายค่าดำเนินการตามความจริง ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้กับนายหน้า และยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับการจราจรบนท้องถนนอีกด้วย ขณะที่ผู้ประกอบ ก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น โดยใช้วิธีการชูป้ายเรียกลูกค้าหน้าร้านแทน
ด้าน พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รอง ผกก.ป.สน.บางซื่อ กล่าวว่า ตั้งแต่สน.บางซื่อ กวดขันจับกุม "แก๊งเคาะกระจก" อย่างจริงจังในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพียงครึ่งเดือน สามารถจับกุมได้กว่า 40 ราย แจ้งข้อหา ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ขี่รถย้อนศร ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งพฤติกรรมของ "แก๊งเคาะกระจก" จะเป็นหน้าม้าต่อ พ.ร.บ. ต่อภาษี เรียกราคาสูงกว่าปกติ
อย่างเช่น ต่อพ.ร.บ. รถเก๋งปกติ ราคาเพียง 700 บาท แต่จะบวกราคาเพิ่มอีก 300 บาท โดยจะนำเงินที่บวกเพิ่มไปแบ่งกัน ให้ทางร้าน 100 บาท ให้หน้าม้า 100 บาท และให้หัวหน้าแก๊งเคาะกระจก 100 บาท ในแต่ละวันจะได้ลูกค้าหลายราย จึงทำให้ "แก๊งเคาะกระจก" มีจำนวนมากรอบ กรมการขนส่งทางบก แต่ถ้าต่อภาษีรถยนต์ราคา 2,000 บาท "แก๊งเคาะกระจก" จะบวกราคาเพิ่ม 2,500 และหากเป็นรถที่มากกว่า 7 ปี ที่จะต้องตรวจสภาพรถ ก็จะมีวิธีรัดไม่ต้องตรวจ ก็จะเก็บค่าบริการมากขึ้นอีก
พ.ต.ท.วรภัทร กล่าวว่า "แก๊งเคาะกระจก" จากการจับกุมพบว่ามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีสังกัด และกลุ่มที่ไม่มีสังกัด ซึ่งที่น่าห่วงคือกลุ่มไม่มีสังกัด จะเป็นนายหน้าเดินเอกสารเองทำให้เสี่ยงกับผู้ที่ให้ดำเนินการแทน ซึ่งเคยมีการแจ้งความเกิดขึ้น เนื่องจากรับเอกสาร รับเงินไปแล้ว ก็ไม่ได้ดำเนินการให้เอาเอกสารหายไปเลย เจ้าของรถต้องเข้าแจ้งความที่สน.บางซื่อ แต่สำหรับ "แก๊งเคาะกระจก" ที่มีสังกัด กลุ่มนี้จะตรวจสอบง่าย เมื่อจับกุมแล้วก็จะทำประวัติไว้ แจ้งเตือนไปยังร้านต้นสังกัด แต่บางคนก็ยังมาก่อเหตุซ้ำอีก
ทั้งนี้ หลังจาก "แก๊งเคาะกระจก" สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้น สน.บางซื่อ เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการ และสน.บางซื่อ จนทำให้แก๊งเคาะกระจก ลดน้อยลง จากเดิมจับกุมได้ได้วันละ 4-5 ราย เหลือสัปดาห์ละ 1-2 ราย ส่วนผู้ประกอบการให้ความร่วมมือมากขึ้นถือป้ายต่อพ.ร.บ. ต่อภาษี หน้าร้านแทน
อย่างไรก็ตามตำรวจสน.บางซื่อ ฝากเตือนประชาชนที่จะมาติดต่อกรมการขนส่งทางบก วิธีที่ดีที่สุดควรจะไปดำเนินการเอง แม้จะเสียเวลาก็ตาม ซึ่งไม่ควรสนับสนุน "แก๊งเคาะกระจก" เพื่อลดปัญหาการจราจรโดยรอบกรมการขนส่งทางบก