ปิดตำนาน 72 ปี 'ตำรวจรถไฟ' 16 ต.ค.นี้ ยุบหน่วยตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่
ปิดตำนาน 72 ปี ตำรวจรถไฟ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ 16 ต.ค.นี้ กระจายกำลังสังกัดหน่วยงานอื่น สร้างขวัญกำลังใจจัดโครงการ 'เดินวิ่ง สะสมระยะทาง 72 กม.-72 ปี'
4 ก.ย. 2566 กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดูแลความปลอดภัยในเขตพื้นเกี่ยวเนื่องกับการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลา 72 ปี ที่ตำรวจรถไฟคอยดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนบนขบวนรถไฟ มายาวนาน วันที่ 16 ต.ค. 2566 กองบังคับการตำรวจรถไฟ จะถูกยุบหน่ายงานอย่างเป็นทางการเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ถือว่าเป็นการปิดตำนานตำรวจรถไฟ 72 ปี
พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) เปิดเผย "คมชัดลึก" ว่า กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลพื้นที่สถานีรถไฟ และชานชาลากว่า 450 แห่ง ทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตร จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000 จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน ซึ่งไม่รวมขบวนรถสินค้า ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลกว่า 600 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง
การดูแลความปลอดภัยของตำรวจรถไฟ ในแต่ละขบวนจะมีตำรวจ 2 นาย ขึ้นไปกับขบวนรถไฟสายยาว สายใต้ สายเหนือ และอีสาน ขึ้นปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ต้นขบวน จนถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อสร้างความอุ่นใจ ดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ
พล.ต.ต.ชัยรพ กล่าวว่า การปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจรถไฟ นอกจากดูแลทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน ยังมีการจับกุมยาเสพติด สินค้าหนีภาษี ที่ถูกลักลอบขนมากับขบวนรถไฟ โดยที่ผ่านมาตำรวจรถไฟสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายคดี โดยเฉพาะคดียาเสพติด ที่หันมาใช้การลำเลียงผ่านทางรถไฟ รวมทั้งการขนสินค้าหนีภาษี
อย่างไรก็ตามเมื่อตำรวจรถไฟถูกยุบ ตามพ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ตำรวจรถไฟ ต้องย้ายไปสังกัดหน่วยอื่น แม้จะเสียขวัญกำลังใจไปบ้างแต่เชื่อว่าการเป็นข้าราชการตำรวจ แม้ว่าจะย้ายไปอยู่หน่วยไหนก็สามารถปรับตัวปฎิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในอนาคตการดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ แม้ไม่มีตำรวจรถไฟแล้วก็ตามแต่เชื่อว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลความปลอดภัยเหมือนเดิม
พล.ต.ต.ชัยรพ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีผลทำให้ต้องยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ซึ่งกองบังคับการตำรวจรถไฟครบรอบก่อตั้ง 71 ปี เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา และได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 72 โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจรถไฟ ได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือ ประชาชนอย่างมืออาชีพ เข้มแข็ง แข็งขัน มีความวิริยะ อุตสาหะ ด้วยดีตลอดมา
เพื่อเป็นการระลึกถึงกองบังคับการตำรวจรถไฟ ในวาระที่จะต้องยุบหน่วยงาน สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตำรวจรถไฟ ประกอบกับส่งเสริมสุขภาพแก่ตำรวจในหน่วยงานตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ข้าราชการสร้างนิสัยในการรักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี กองบังคับการตำรวจรถไฟ จึงได้จัดทำโครงการ "เดิน/วิ่ง สะสมระยะทาง 72 กม. - 72 ปี แห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจของตำรวจรถไฟในการให้บริการประชาชน"
โดยตำรวจรถไฟและครอบครัว ข้าราชการตำรวจหน่วยอื่น และประชาชน สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเมื่อสะสมระยะทางครบตามกำหนดแล้ว รับเหรียญ Finisher 72K เป็นที่ระลึกจากโครงการนี้
วิ่งสะสมระยะ ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ (เวอร์ช่วลรัน) สะสมให้ครบระยะรวม 72K (72 กิโลเมตร) จะส่งผลครั้งเดียวหรือส่งผลสะสมไปเรื่อยๆ ก็ได้ ผลวิ่งจากนาฬิกาวิ่งเช่น Garmin Suunto หรือ ภาพจาก แอปพลิเคชันวิ่ง บนโทรศัพท์มือถือ หรือภาพถ่ายระยะวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าก็ได้
สำหรับ การสมัคร สมัครฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สะสมระยะครบ 72 กม. รับเหรียญ Finisher จำนวน 1 เหรียญ (จำนวนจำกัด 2023 เหรียญ) โดย รับสมัครตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย. 2566 - 30 ก.ย. 2566 เริ่มสะสมระยะ ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย. - 30 ก.ย. 2566
ประวัติกองบังคับการตำรวจรถไฟ
กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) เป็นหน่วยงานตำรวจระดับกองบังคับการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการสืบสวนสอบสวน และการป้องกันปราบกรามการกระทำความผิดทางอาญา รวมไปถึงความปลอดภัยในเขตพื้นที่อันเกี่ยวเนื่องกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ อันได้แก่ สถานีรถไฟ ทางรถไฟ ขบวนรถไฟ จุดถ่ายโอนสินค่า และที่พักสินค้า รวมไปถึง ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของการรถไฟ
กองตำรวจรถไฟ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2437 สามปีหลังจากการจัดตั้งกรมรถไฟหลวง ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2443 ในเส้นทางรถไฟสาย กรุงเทพ-นครราชสีมา มีหน้าที่ป้องกันภัยรถไฟ และผู้โดยสาร จากการก่ออาชญากรรม ตลอดจนการป้องกันขับไล่สัตว์ป่าดุร้าย
ภายหลังราวปี พ.ศ. 2494-2500 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้ยกสถานะเป็น กองบังคับการตำรวจรถไฟ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่และอัตรากำลังพลให้เพียงพอต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเส้นทางเดินรถ สถานี และปริมาณการเดินรถและผู้โดยสารที่มากขึ้น ในปี 2548 ได้มีการโอนให้หน่วยมาสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ดำเนินภารกิจดูแลความปลอดภัยของประชาชนในขบวนรถไฟและพื้นที่ของการรถไฟ สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน