'นายกรัฐมนตรี' มีอำนาจเบ็ดเสร็จเคาะ 'ผบ.ตร.' คนใหม่ ก่อนสิ้นเดือน ก.ย. นี้
'วินัย ทองสอง' หนึ่งใน 'ก.ตร.' เผย 'นายกรัฐมนตรี' มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่งตั้ง 'ผบ.ตร.' คนใหม่ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 เชื่อได้ 'ผบ.ตร.' ที่มีความรู้ความสามารถ เร่งกู้ภาพพจน์ตำรวจ ย้ำจะไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่งแน่นอน
6 ก.ย. 2566 การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ ถูกเลื่อนอีกครั้งหลังจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นคนแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ แทน
โดยมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดถัดไปก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ ต้องมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 ซึ่งคาดว่าในวันนั้น นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้คัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.
สำหรับ การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ ผบ.ตร.คนปัจจุบันไม่มีอำนาจในการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ แต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ 2565 ในมาตรา 78 (1) นำรายชื่อเสนอต่อ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
เรื่องนี้มีคำตอบจาก พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหนึ่งในคณะคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เปิดเผย "คมชัดลึก" ว่า พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 เกิดขึ้นหลังจากการปฎิวัติรัฐประหาร ปี 2557 โดยให้ข้าราชการตำรวจ มีการเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ มาทำหน้าที่ ก.ตร. โดยการเลือกตั้งได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ 3 นาย มานั่ง ก.ตร. คือ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผบ.ตร.
นอกจากนี้ยังมี ก.ตร.จากบุคคลภายนอกที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีก 3 ท่านคือ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, รศ.ประทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ ศ.ศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และยังมีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาคัดเลือก ผบ.ตร. เพียงคนเดียวแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมาจาก รอง ผบ.ตร. แล้วพิจารณาจากความอาวุโส ต้องมีความรู้ความสามารถประกอบกับมีผลงานความชำนาญการสืบสวนสอบสวน การปราบปราม เป็นหลัก
ส่วนประวัติของ รอง ผบ.ตร. ที่จะส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณานั้น แต่ละท่านได้จัดทำประวัติให้กับทางสำนักเลขานุการ ก.ตร. อยู่แล้ว ทางสำนักเลขานุการ ก.ตร. มีการส่งให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป เชื่อว่าก่อนสิ้นเดือนกันยายน นี้ จะได้ ผบ.ตร. คนใหม่
พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 ขึ้นมาใหม่นั้น เนื่องจากในอดีตยอมรับว่าในวงการตำรวจมีการซื้อขายตำแหน่งกันจำนวนมาก เพื่อให้ได้รับการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่มีความสามารถในการปฎิบัติหน้าที่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่บางคน ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีเงินไปซื้อตำแหน่ง เกิดความท้อแท้ในการทำงาน
ดังนั้นที่ผ่านมาจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ เพื่อต้องการไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่ง โดยขณะนี้ ก.ตร. พยายามที่จะไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในแต่ละปี พร้อมทั้งปฎิรูปวงการตำรวจให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ต้องดีที่สุด ระดับผู้บังคับการ ก็ต้องดีที่สุดเช่นกัน รวมถึงระดับผู้กำกับการ จะต้องเป็นหัวหน้าโรงพัก ที่มีความรู้ความสามารถ ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนจริงๆ
อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการสรรหาข้าราชการตำรวจให้เหมาะกับงาน เอาคนที่ทำงาน มีคุณธรรมจริงๆ เพื่อมากู้ภาพพจน์ของวงการตำรวจ ซึ่งกฎหมาย ไม่ได้เก็บไว้ในตู้ เป็นกระดาษชิ้นหนึ่ง แต่ต้องนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ก.ตร. จะไม่ยอมให้มีการซื้อขายตำแหน่งอีกต่อไป ไม่ว่าระดับไหนทั้งสิ้น หากพบยังมีการซื้อขายตำแหน่งก็จะมีการลงโทษอย่างเด็ดขาด
พล.ต.อ.วินัย กล่าวชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ ที่รับฟังความคิดเห็นแย้งจาก ก.ตร. ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในวันนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ มีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. อาจจะเกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นมาได้ เนื่องจากขณะนั้นได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถอนวาระการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตามความเห็นของ ก.ตร. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นคนแต่งตั้งแทน จึงมีการขยายเวลาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ไป จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2566
พล.ต.อ.วินัย ในฐานะอดีตรอง ผบ.ตร. และยังเป็นหนึ่งใน ก.ตร. ฝากถึง ผบ.ตร.คนใหม่ ว่า การแต่งตั้งระดับผู้บัญชาการ ลงมา ผบ.ตร. ต้องพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ตามลำดับอาวุโส และต้องมีความรู้ความสามารถ และต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่งอย่างเด็ดขาด
ส่วนข้าราชการตำรวจ จะต้องช่วยกันกู้ภาพพจน์ของวงการตำรวจให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่รักของชาวบ้าน อยากเห็นตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนจริง ไม่ใช่ช่วยเหลือดูแแต่คนรวย คนมีฐานะ จะต้องมาช่วยเหลือดูแลคนจนอย่างเท่าเทียมกัน ตรงนี้ตำรวจจะได้เป็นที่พึ่งของประชาชนจริงๆ
สำหรับแคนดิเดต รอง ผบ.ตร. 4 ท่านที่จะชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.คนที่ 14 เลียงลำดับตามอาวุโสประกอบด้วย
1. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์
2. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
3. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์
4. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล
ก่อนสิ้นเดือนกันยายน นี้ การประชุม ก.ตร. ต้องรอลุ้นกันว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมีการคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 เป็นใครกับแคนดิเดต รอง ผบ.ตร. ทั้ง 4 นาย