'บิ๊กโจ๊ก' เผย 'พ.ต.อ.วชิรา' เครียด เหม่อลอย ก่อนตัดสินใจลาโลก
"บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เผย "ผกก.เบิ้ม" มีอาการเครียด เหม่อลอย ตั้งแต่ถูกตั้งกรรมการสอบปากคำกรณี "สารวัตรแบงค์" ถูกยิงเสียชีวิต ในบ้าน "กำนันนก"
11 ก.ย. 2566 เรียกได้ว่าเป็นเหตุอาฟเตอร์ช็อกวงจรสีกากี ก็ว่าได้ หลังเกิดเหตุ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรตำรวจทางหลวง ถูกลูกน้องคนสนิทของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก กระหน่ำยิง จนเสียชีวิต เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 ก.ย. 2566 ในส่วนของคดี ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ในคืนเกิดเหตุ โดยเฉพาะกันเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มที่ไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านนายประวีณ หรือกำนันนก
โดยเบื้องต้นการออกหมายจับ 6 นายตำรวจ และนำตัวส่งศาลฝากขังไปแล้ว ขณะเดียวกันร่างของ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงค์ ซึ่งมีพิธีพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ โดยมีตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมในพิธีจำนวนมาก
แต่ในขณะเดียวกัน เกิดเหตุช็อกสำนักงานตำรวจตำรวจแห่งชาติอีกครั้งเมื่อ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ หรือ ผกก.เบิ้ม ผกก.2 บก.ทล. และเป็นผู้บังคับบัญชา สารวัตรแบงค์ ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตภายในบ้านพัก ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี หลังตัว พ.ต.อ.วชิรา ถูกพาดพิงว่าเป็นคนโทรตาม สารวัตรแบงค์ ออกมาในวันเกิดเหตุ จนถูกยิงเสียชีวิต
และ ผกก.เบิ้ม ยังเป็นหนึ่งใน 25 ตำรวจที่ถูก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน พร้อมออกคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจทั้ง 25 นาย มาช่วยราชการที่ ศปก.ตร.
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ซึ่งเดินทางมาที่เกิดหลังได้รับรายงานว่า พ.ต.อ.วชิรา เสียชีวิตอยู่ภายในบ้านพัก เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากเพื่อนที่เป็นผู้กำกับฯ ว่า พ.ต.อ.วชิรา เสียชีวิตในบ้านพัก หลังจากติดต่อไม่ได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนตัดสินใจมาเดินทางมาดูที่บ้านพักด้วยตนเอง และพบว่าเสียชีวิตภายในบ้านพัก
ส่วนกรณีการเสียชีวิต ของ พ.ต.อ.วชิรา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และกำชับห้ามไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ นอกจากเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานและแพทย์นิติเวช ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตยังไม่สามารถสรุปได้
สำหรับรูปคดีของสารวัตรศิวกรได้สอบปากคำครบทุกข้อสงสัยแล้ว จึงไม่มีผลต่อรูปคดี ส่วนตำรวจนายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยที่จะต้องไปดูแลกันเอง
อย่างไรก็ตามขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงาน ก่อนจะสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของพันตำรวจเอกวชิรา โดยจะใช้เวลา 1-2 วัน แต่ยอมรับว่าหลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบในคดีการเสียชีวิตของสารวัตรแบงค์ และสอบปากคำ พ.ต.อ.วชิรา ก็เริ่มมีอาการเครียดเหม่อลอย แต่เจ้าตัวไม่มีโรคประจำตัว