ข่าว

'รองแต้ม' ลั่นตำรวจ 'ขาดจิตวิญญาณ' ปล่อยคนร้ายยิง 'สารวัตรแบงค์' หนี

'รองแต้ม' ลั่นตำรวจ 'ขาดจิตวิญญาณ' ปล่อยคนร้ายยิง 'สารวัตรแบงค์' หนี

14 ก.ย. 2566

'รองแต้ม' เจ้าของฉายา 'มือปราบหูดำ' ลั่น ผู้มีอิทธิพล-อำนาจเงิน ข้าราชการวิ่งเข้าหาหวังเจริญด้านหน้าที่การงาน ปมยิงบ้าน 'กำนันนก' ผู้บังคับบัญชา ขาดประสบการณ์ประเมินเหตุการณ์ผิดพลาด ตำรวจ 'ขาดจิตวิญญาณ' ปล่อยคนร้ายหนี

14 ก.ย. 2566 จากเหตุการณ์สะเทือนวงการสีกากี พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. หรือ "สารวัตรแบงค์" ถูกยิงเสียชีวิตอย่างอุกอาจกลางงานเลี้ยงบ้าน กำนันนก ผู้มีอิทธิพล ในพื้นที่จ.นครปฐม ท่ามกลางตำรวจที่ไปร่วมงานกว่า 25 นาย

 

จนต่อมา  พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 บก.ทล. หรือ "ผู้กำกับเบิ้ม" ผู้บังคับบัญชา สารวัตรแบงค์ เกิดความเครียดตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง 

 

เหตุการณ์นี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เจ้าของฉายา "มือปราบหูดำ" เปิดเผย "คมชัดลึก" ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าน กำนันนก ไม่น่าจะเกิดขึ้นในวงการตำรวจ ถือว่าเป็นสิ่งเลวร้ายมากที่กล้ายิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้รักษากฎหมาย โดยเฉพาะกล้ายิงตำรวจน้ำดี โดยสาเหตุที่หลายคนบอกว่ามาจากขอโยกย้ายตำแหน่งไม่ได้ บางคนบอกมีผลประโยชน์แอบแฝง ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล

 

นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันก

 

 

 

รองแต้ม ยอมรับว่า ในพื้นที่ต่างจังหวัดนักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนมากจะมีเงิน มีอำนาจ มีอิทธิพล โดยการสนับสนุนจากนักการเมืองระดับชาติ จึงทำให้ข้าราชการ ต้องเข้าหา เนื่องจากเห็นว่าผู้มีอิทธิพลเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้เจริญด้านหน้าที่การงานของข้าราชการเหล่านั้น

 

 

 

เช่นเดียวกับ กำนันนก เมื่อมีเงิน มีอำนาจ มีอิทธิพล ข้าราชการเข้าหา ทำให้เขาหลงอำนาจ เมื่อไม่พอใจใครก็กล้าสั่งให้ลูกน้องยิงใครก็ได้ นี่คืออำนาจของนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อมีตำรวจเข้าหามากขนาดนี้ จึงทำให้เขาไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น และถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญของตำรวจ ที่เดินเข้าหาผู้มีอิทธิพล 

 

พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. หรือ สารวัตรแบงค์

 

 

 

ส่วนกรณีที่เกิดเหตุยิง สารวัตรแบงค์ นั้น พล.ต.ต.วิชัย มองว่า เป็นความอ่อนประสบการณ์ของผู้บังคับบัญชา ที่อยู่ในขณะนั้นประเมินเหตุการณ์ไม่ได้ว่าควรทำอย่างไร ซึ่งถ้าหากประเมินเหตุการณ์ได้ว่าจะเกิดความรุนแรง หรือ ความไม่พอใจเกิดขึ้น ควรที่จะเข้าไปห้าม หรือพูดคุยกับอีกฝ่ายเพื่อลดความรุนแรง ก็จะไม่เกิดเหตุแบบนี้ขึ้น

 

 

 

"พอเกิดเหตุตำรวจถูกยิง กลับไม่มีการช่วยเหลือ ไม่จับกุม ปล่อยคนร้ายหนี ปล่อยให้ทำลายหลักฐาน อย่างนี้ไม่ใช่ตำรวจแล้ว" 

 

 

 

รองแต้ม กล่าวว่า ในส่วนของ ผู้กำกับเบิ้ม ถือว่าเป็นตำรวจน้ำดีอีกนายหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่คาดว่าพาลูกน้องไปงานเลี้ยง แต่ก็ไม่คิดว่าจะพาลูกน้องไปตาย จนทำให้เกิดความเครียด คิดมาก จนต้องปลิดชีพตัวเอง บทเรียนครั้งนี้สอนให้รู้ว่าตำรวจต้องมีวินัย ต้องอยู่ในระเบียบข้อบังคับ ต้องรู้ว่าทำอะไรแล้วจะกระทบกับองค์กร 

 

พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก. 2 บก.ทล. หรือ ผู้กำกับเบิ้ม

 

 

 

อดีตมือปราบหูดำ ในฐานะอดีตตำรวจ ฝากถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปฎิรูปวงการตำรวจให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อเห็นว่าตำรวจนายไหน เริ่มออกนอกลู่นอกทาง ผู้บังคับบัญชา ต้องกระตุก ต้องตักเตือนให้กลับเข้าสู่ระบบ และที่สำคัญควรเพิ่มสวัสดิการตำรวจให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับตำรวจในการปฎิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน

 

 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้มีอิทธิพล ตอนนี้อาจจะเรียกว่าผู้กว้างขวาง ผู้มีอำนาจ มากกว่า เพราะคนกลุ่มนี้จะมีอยู่ทุกจังหวัด เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ที่มีนักการเมืองระดับชาติคอยสนับสนุน ทำให้มีเงิน มีอำนาจ มีอิทธิพล จึงทำให้ลูกน้อง มีข้าราชการ เข้ามาเสริมบารมี แม้จะปราบยังไงเชื่อว่าปราบไม่หมด