'ราชทัณฑ์' ยกข้อกฎหมาย เผยอาการป่วย 'ทักษิณ' ไม่ได้ ชี้เป็นความลับส่วนบุคคล
"กรมราชทัณฑ์" ยกข้อกฎหมายแจง ข้อมูลป่วยของ "ทักษิณ" เป็นความลับส่วนบุคคล เจ้าตัวต้องยินยอมจึงเปิดเผยได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล
25 ก.ย.2566 กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ออกหนังสือชี้แจง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่นอนพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 ทำให้สังคมมีข้อข้องใจในอาการป่วย จนเกิดการเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยอาการป่วยของนายทักษิณ ว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนอกเรือนจำหรือไม่
ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจงว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้เป็นไปโดยเสมอภาคกันตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง การสัมภาษณ์ การเปิดเผยใบหน้า โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังรายใดก็ตาม ทั้งที่เป็นประชาชนคนธรรมดา ดารานักแสดง นักการเมือง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำ
กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ไม่สามารถเปิดเผยได้หากผู้ต้องขังไม่ยินยอม และกรณีที่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ต้องมีการลงนามในแบบฟอร์มเพื่อยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้น โดยยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
1. พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”
2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังยึดมั่นในหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติ มีการวางมาตรฐานข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ แห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยรายละเอียดของผู้ต้องขังในฐานะผู้ป่วย ข้อมูลด้านเวชระเบียนผู้ต้องขังทุกคนต้องเก็บเป็นความลับ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับเท่าเทียมกัน
ในปีงบประมาณ 66 กรมราชทัณฑ์ มีสถิติผู้ต้องขังที่ต้องดูแลทั่วประเทศกว่า 276,686 คน โดยมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เจ็บป่วยทั่วไปสามารถดูแลได้ภายในสถานพยาบาลเรือนจำ หรือกรณีส่งต่อออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ส่งรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกราว 30,000 คน โดยออกรักษามากกว่า 75,000 ครั้ง และมีผู้ป่วยกรณีที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 30 วัน ประมาณ 140 คน เป้าหมายคือ การรักษาชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนให้ปลอดภัย มีอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง