ข่าว

เปิดมติ 9 ต่อ 1 เลือก 'ต่อศักดิ์' นั่ง 'ผบ.ตร.' คนที่ 14

เปิดมติ 9 ต่อ 1 เลือก 'ต่อศักดิ์' นั่ง 'ผบ.ตร.' คนที่ 14

27 ก.ย. 2566

โฆษก ตร. แถลงผลการประชุม ก.ตร. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 'ต่อศักดิ์' นั่ง ผบ.ตร.คนใหม่ เปิดมติ 9 ต่อ 1 'เอก อังสนานนท์' ไม่เห็นชอบ ส่วน 'ประทิต' งดออกเสียง

 

27 ก.ย. 2566  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 ในวาระสำคัญ การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทนที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นานกว่า 2 ชั่วโมง
 

 

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจ และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แถลงแทน การประชุมก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 วันนี้มีการประชุม ก.ตร.โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีได้เข้ามาประชุม ก.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี ผบ.ตร.ให้การต้อนรับ 

 

และมีการประชุมก.ตร. ซึ่งเรื่องสำคัญในวันนี้เป็นเรื่องของการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2566 วันนี้จึงได้มีการประชุมคัดเลือกแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่นั้นมีการพิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้ที่จะเป็นผบ.ตร.ท่านใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างในขั้นตอนการธุรการเพื่อนำความกราบบังคมทูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในวันนี้

 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ว่าที่ ผบ.ตร.

 

 

 

ส่วนเรื่องที่ 2 เรื่องการขยายระยะเวลาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2566 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อความเหมาะสม และได้มีการพิจารณารายชื่ออย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงได้มีการขยายระยะเวลาออกไปก่อนและให้มีการพิจารณารายชื่ออย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงได้มีการขยายระยะเวลาออกไปก่อน

 

 

 

เมื่อถามว่ามติการคัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่เป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า ในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนธุรการที่จะเตรียมนำความกราบบังคมทูลต่อไป สำหรับการพิจารณาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ยึดหลักตามข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในเรื่องความอาวุโสและความรู้ความสามารถ ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการสืบสวนสอบสวนและป้องกันปราบปราม ส่วนเรื่องวาระในการพิจารณาเป็นเรื่องของที่ประชุมจะพิจารณาตามระเบียบนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาเสนอรายชื่อให้ก.ตร.มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

 

 

 

ส่วนรายละเอียดต่างๆ ในที่ประชุมไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่าวันนี้มีการพิจารณารายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนในการแต่งตั้งจะเป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด การแต่งตั้งประจำปี 2566 ต่อไป ส่วนการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2566 จะเป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้

 

ภายในห้องประชุมเลือก ผบ.ตร.

 

 

 

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามเพียงแต่ชูนิ้วโป้งให้กับสื่อมวลชนหลัง ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า สบายใจแล้วหรือไม่ ก่อนจะตรวจแถวกองเกียรติยศ และเดินทางกลับทันที

 

 

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. ทั้งหมด 16 ท่าน แต่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยก่อนการประชุมจะเริ่ม นายกรัฐมนตรีได้เชิญ ก.ตร. 9 ท่านยกเว้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.คนใหม่ เข้าหารือกันนอกรอบที่ห้องพรหมนอก ก่อนเริ่มประชุมในเวลา 15.00 น. โดยมีการเชิญพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียออกจากห้องประชุม

 

 

 

จากนั้นนายเศรษฐา ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยใช้วิธีลงคะแนนอย่างเปิดเผย ปรากฏว่า ก.ตร. 9 ท่านเห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ มีเพียง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เห็นชอบ ส่วนนายเศรษฐา ในฐานะประธานที่ประชุม และนายประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ งดออกเสียง