บิ๊ก ก.ตร. ไม่หนุน 'รองต่อศักดิ์' เป็นผบ.ตร. เอก อังสนานนท์ 1 เดียวกล้าสวนมติ
เปิดตัว 2 บิ๊ก ก.ตร. ไม่หนุน 'รองต่อศักดิ์' นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ หนึ่งเดียวกล้าสวนมติไม่เห็นชอบชี้แจงเหตุผลชัดเจน
จบไปแล้วสำหรับการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ซึ่งไม่ผิดคาด เพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ "รองต่อศักดิ์" ซึ่งมีลำดับอาวุโสเป็นอันดับ 1 ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนต่อไป โดยในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการ ก.ตร. เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 16 คน ซึ่งมี 4 คน ที่เป็นแคนดิเดตผบ.ตร. ไม่สามารถออกเสียงได้ จึงเหลือคณะกรรมการ ก.ตร. 12 คนเท่านั้นที่มีสิทธิในการออกเสียงเพื่อคัดเลือก ผบ.ตร. คนใหม่
โดยในที่ประชุมได้มีมติ 9 ต่อ 1 เห็นชอบให้ "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์" หรือ รองต่อศักดิ์ นั่งเก้าอี้ผบ.ตร. คนถัดไปโดย ก.ตร. 9 คนที่เห็นชอบ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ, ศ.ศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาไทย, นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ
งดออกเสียงเห็นชอบให้ "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์" จำนวน 2 คน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ,รศ.ประทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.อัสสัมชัญ อย่างไรก็ตามในที่ประชุม มีเพียง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เห็นชอบให้กับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ในครั้งนี้
สำหรับที่ไปที่มาของคณะกรรมการ 2 คน ที่งดออกเสียง และไม่เห็นชอบ กับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะหนึ่งคนคือ อดีตข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. ส่วนอีกหนึ่งคนเป็นอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่ต้องบอกว่าเส้นทางการทำงานไม่ธรรมดาทั้ง 2 คน
โดย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่รู้จักวงการสีกากีเป็นอย่างดี เพราะ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เริ่มต้นชีวิตข้าราชการตำรวจมาตั้งแต่ปี 2520 ในตำแหน่ง รองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสงขลา และในปี 2564 เกษียณชีวิตข้าราชการตำรวจในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ยังเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนั่งเป็นประธานบอร์ดอีกหลายแห่งและปัจจุบันยังนั่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
อย่างไรก็ตามหลังจากที่การคัดเลือก "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์" เสร็จสิ้นไปแล้ว พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่ออกเสียงเห็นชอบในครั้งนี้ โดยสรุปใจความได้ว่า "ผมได้โหวตไม่เห็นด้วยเป็นเสียงข้างน้อย ด้วยเหตุผลที่ได้ขอบันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่า
การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผมขอยืนยัน ได้แสดงความคิดเห็นด้วยบริสุทธิ์ใจ ใช้วิจารณญาณและดุลพินิจ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด เพื่อประโยชน์ขององค์กรตำรวจและประเทศชาติบ้านเมือง
ขอกราบขอบพระคุณผู้ใหญ่ที่ผมเคารพอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาเข้าใจในการโหวตของผม ขอบพระคุณอดีตผู้บังคับบัญชา และทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนและให้กำลังใจผมจะทำหน้าที่ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ปกป้องศักดิ์ศรี ตำรวจดีของประชาชน ต่อไป
สำหรับหนึ่งในคณะกรรมการก.ตร. ที่งดออกเสียงในการคัดเลือก ผบ.ตร. ครั้งนี้ คือ รศ.ดร.ประทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.อัสสัมชัญ ซึ่งเป็นลูกชายของ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ซึ่งเคยอดีตราชองครักษ์พิเศษ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
รศ.ดร.ประทิต แม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจ แต่ก็ยังมีงานที่เกี่ยวข้องบ้าง เนื่องจากเป็ยนายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ