ข่าว

ศาลสั่งจำคุก 105 ปี 'อดีตผอ.กองการศึกษาฯ อบจ.ยโสธร' นำรถหลวงใช้ส่วนตัว

ศาลสั่งจำคุก 105 ปี 'อดีตผอ.กองการศึกษาฯ อบจ.ยโสธร' นำรถหลวงใช้ส่วนตัว

12 ต.ค. 2566

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษา สั่งจำคุก 105 ปี "อดีต ผอ.กองการศึกษาฯ อบจ.ยโสธร" นำรถยนต์ทางราชการไปใช้ส่วนตัว-ตีกอล์ฟไปกลับบ้านพัก

12 ต.ค.2566 นายอดุลย์ วันดี ผอ.ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยโสธร เผยถึงความคืบหน้า คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด กล่าวหานายรุ่งรัก (สงวนนามสกุล) ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร กับพวก นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตน ในการเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้านและที่ทำงาน และนำรถยนต์ของทางราชการไปตีกอล์ฟ  อัยการสุงสุด โดย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายรุ่งรัก กับพวก เป็นจำเลย 
 

 

 

นายอดุลย์ วันดี ผอ.ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยโสธร

 

 

ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษา ดังนี้

 

จำเลยที่ 1 นายรุ่งรัก 

- มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ม.123/1 รวมทั้งสิ้น 21 กระทง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่โทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 105 ปี 

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.78 คงจำคุก 52 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้ว จำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกิน 50 ปี ตาม ประมวลกฎหมายอาญา ม.91 (3) 
 

 

จำเลยที่ 2 นายสถิรพร และ จำเลยที่ 3  นายพงษ์ศิริ 

- มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2554 ม.123/1 ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ตาม ม.123/1 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำเลยที่ 2 รวม 12 กระทง จำคุก 12 ปี และปรับ 240,000 บาท  

 

จำเลยที่ 3 รวม 16 กระทง จำคุก 16 ปี และปรับ 320,000 บาท จำเลย ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดให้กึ่งหนึ่ง ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และไม่เคยใช้รถยนต์คันดังกล่าว เห็นควรรอลงอาญา คนละ 2 ปี และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 4 เดือน ต่อครั้ง  ตลอดระยะเวลาที่คุมประพฤติ และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลาคนละ 36 ชั่วโมง พร้อมชำระค่าปรับ

 

ทั้งนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยมีสิทธิ์ ต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก