ปิดตำนาน 72 ปี 'ตำรวจรถไฟ' คุ้มครองป้องภัยขบวนรถไฟมายาวนาน
'ตำรวจรถไฟ' พิทักษ์รับใช้ดูแลพี่น้องประชาชนบนชานชาลา คุ้มครองป้องภัยทุกขบวนรถไฟ ปิดตำนาน 72 ปี ยุบเลิกหน่วยงาน 17 ต.ค.นี้ ตามแนวทางการปรับโครงสร้างตำรวจ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
16 ต.ค. 2566 กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) เป็นหน่วยงานตำรวจระดับกองบังคับการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการสืบสวนสอบสวน และการป้องกันปราบกรามการกระทำความผิดทางอาญา
รวมไปถึงความปลอดภัยในเขตพื้นที่อันเกี่ยวเนื่องกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ อันได้แก่ สถานีรถไฟ ทางรถไฟ ขบวนรถไฟ จุดถ่ายโอนสินค่า และที่พักสินค้า รวมไปถึง ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของการรถไฟ
"ตำรวจรถไฟ" ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5 ) ในชื่อ "กองตระเวนรักษาทางรถไฟ" ต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็น "กองตำรวจรถไฟ"
จนได้รับการเลื่อนสถานะเป็น "กองบังคับการตำรวจรถไฟ" มีสถานีตำรวจรถไฟตั้งอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ สถานีตำรวจรถไฟมักกะสัน สถานีตำรวจรถไฟหัวหิน สถานีตำรวจรถไฟหาดใหญ่ สถานีตำรวจรถไฟหนองคาย ฯลฯ
กองบังคับการตำรวจรถไฟ ทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟฯ อยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
เมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีผลให้กองบังคับการตำรวจรถไฟจะถูกยุบเลิก โดยข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจรถไฟจะได้รับการแต่งตั้งแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) คนสุดท้าย เปิดเผย "คมชัดลึก" ว่า กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลพื้นที่สถานีรถไฟ และชานชาลากว่า 450 แห่ง ทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตร จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000 จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน ซึ่งไม่รวมขบวนรถสินค้า ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลกว่า 600 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง
การดูแลความปลอดภัยของตำรวจรถไฟ ในแต่ละขบวนจะมีตำรวจ 2 นาย ขึ้นไปกับขบวนรถไฟสายยาว สายใต้ สายเหนือ และอีสาน ขึ้นปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ต้นขบวน จนถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อสร้างความอุ่นใจ ดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ
ทั้งนี้ ในอนาคตการดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ แม้ไม่มีตำรวจรถไฟแล้วก็ตามแต่เชื่อว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลความปลอดภัยเหมือนเดิม
พล.ต.ต.ชัยรพ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีผลทำให้ต้องยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ซึ่งกองบังคับการตำรวจรถไฟครบรอบก่อตั้ง 71 ปี เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา และได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 72 โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจรถไฟ ได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือ ประชาชนอย่างมืออาชีพ เข้มแข็ง แข็งขัน มีความวิริยะ อุตสาหะ ด้วยดีตลอดมา
พล.ต.ต.ชัยรพ กล่าวว่า การปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจรถไฟ นอกจากดูแลทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน ยังมีการจับกุมยาเสพติด สินค้าหนีภาษี ที่ถูกลักลอบขนมากับขบวนรถไฟ โดยที่ผ่านมาตำรวจรถไฟสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายคดี โดยเฉพาะคดียาเสพติด ที่หันมาใช้การลำเลียงผ่านทางรถไฟ รวมทั้งการขนสินค้าหนีภาษี