ข่าว

'ตร.ไซเบอร์' ย้ำเตือน 'thaipoliceonline.com' รับแจ้งความออนไลน์ เท่านั้น

'ตร.ไซเบอร์' ย้ำเตือน 'thaipoliceonline.com' รับแจ้งความออนไลน์ เท่านั้น

22 ต.ค. 2566

"ตำรวจไซเบอร์" ย้ำเว็บไซต์ "thaipoliceonline.com" เว็บเดียว เปิดรับแจ้งความออนไลน์ ไม่มีนโยบายติดตามทรัพย์สิน ไม่เจาะระบบ เตือนมิจฉาชีพอ้างชื่อหน่วยงาน โลโก้ สวมรอยล้วงข้อมูลหลอกให้โอนเงิน

22 ต.ค. 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์  เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปี ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินซื้อคูปองเกมออนไลน์แล้ว ไปแจ้งความผ่านเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา แอบอ้างเป็นตำรวจไซเบอร์

 

ซึ่งที่ผ่านมา บช.สอท. ได้แจ้งเตือนมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซต์ปลอม และเพจเฟซบุ๊กปลอมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเมื่อผู้เสียหายใช้คำที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งความออนไลน์ เป็นคีย์เวิร์ด (Keyword) ในการสืบค้นผ่านเว็บไซต์ค้นหา (Search Engine Site) ยอดนิยมต่างๆ เช่น Google.com, Bing.com เป็นต้น จะทำให้พบเว็บไซต์การรับแจ้งความออนไลน์ของมิจฉาชีพปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ

 

 

ตร.ไซเบอร์ มีเว็บเดียวรับแจ้งความออนไลน์เท่านั้น

 

 

 

 

เมื่อหลงเชื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ปลอมแล้ว มิจฉาชีพจะให้เพิ่มเพื่อนหรือแอดไลน์ไปยังบัญชีไลน์ ซึ่งแอบอ้างเป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความปลอม จากนั้นจะสอบถาม ข้อมูลส่วนบุคคล รายละเอียดการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวง มูลค่าความเสียหาย และขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อเว็บไซต์หรือชื่อแพลตฟอร์ม หลักฐานการโอนเงิน ประวัติการสนทนากับมิจฉาชีพ เป็นต้น 

 

 

ิมิจฉาพชีพสวมรอย เป็น ตร.ไซเบอร์ ล้วงข้อมูลก่อนหลอกให้โอนเงิน

 

 

รวมถึงมีการทำหนังสือมอบอำนาจปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยให้ทนายปลอมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการทางคดีแทนผู้เสียหาย มีค่าดำเนินการ 10% จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ต่อมา ทนายความปลอมจะให้ติดต่อกับตำรวจฝ่ายไอทีปลอม อ้างว่าสามารถติดตามทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปกลับคืนมาได้ โดยแจ้งการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า เงินของผู้เสียหายถูกนำไปฟอกเงินผ่านเว็บไซต์พนันออนไลน์ต่างประเทศ แต่ทีมไอทีสามารถทำการกู้ความเสียหายและนำเงินคืนกลับมาได้ โดยวิธีการโจมตี หรือเจาะระบบแพลตฟอร์มดังกล่าวทำให้ข้อมูลผันผวน 

 

 

ิมิจฉาชีพสวมรอย เป็น ตร.ไซเบอร์ ล้วงข้อมูลก่อนหลอกให้โอนเงิน

 

 

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีปลอม จะอธิบายให้ทำตามขั้นตอน เริ่มจาก เข้าไปสมัครสมาชิกเว็บไซต์พนัน ผูกบัญชีธนาคาร และเติมเงินเข้าไปในบัญชี โดยมิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายเล่นพนันในเวลาที่เจ้าหน้าที่โจมตีระบบ เพื่อทำให้เล่นการพนันชนะได้ทรัพย์สินกลับคืนมา 

 

นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังถูกชวนให้เข้ากลุ่มผู้เสียหายหน้าม้า ซึ่งมีประมาณ 5-10 คน ทำหน้าที่สนทนาโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ไอทีปลอม ในลักษณะว่าได้รับเงินคืนจริง 

 

 

 

ิมิจฉาพชีพสวมรอย เป็น ตร.ไซเบอร์ ล้วงข้อมูลก่อนหลอกให้โอนเงิน

 

 

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ โอนเงินเติมลงไปในเว็บไซต์พนัน และได้เริ่มเดิมพนันชนะ ได้เงินคืน และสามารถถอนออกมาได้จริง ผู้เสียหายจะถูกหลอกให้โอนเงินไปเดิมพันมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง ผู้เสียหายไม่สามารถถอนเงินออกมาจากระบบได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไอทีปลอมจะอ้างเหตุผลต่างๆ ที่ไม่สามารถถอนเงินได้ เนื่องจากเป็นความผิดของเว็บไซต์พนันออนไลน์ หรือถูกเว็บไซต์พนันนั้นหลอกลวง

 

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเข้าถึงบริการต่างๆ หรือการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่า เป็นของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี นอกจากมิจฉาชีพอาจจะใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแล้ว ยังอาจถูกหลอกลวงให้โอนเงินอีกด้วย รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการยิงโฆษณา หรือมีชื่อเพจ หรือเว็บไซต์ที่ตั้งชื่อคล้ายกับของหน่วยงานนั้นจริงเท่านั้น

 

 

ิมิจฉาพชีพสวมรอย เป็น ตร.ไซเบอร์ ล้วงข้อมูลก่อนหลอกให้โอนเงิน

 

 

วิธีการป้องกันเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม ดังนี้

1.หากท่านต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม

 

2.ประชาชนที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com เท่านั้น โดยสามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ มีเพียงแชทบอท @police1441 ไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งคอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

3.ระมัดระวังการสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ค้นหาต่างๆ (Search Engine Site) มิจฉาชีพอาจจะสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา แล้วทำการยิงโฆษณาเพื่อให้ผู้เสียหายพบเป็นอันดับแรกๆ

 

4.บช.สอท. และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีนโยบายให้ประชาชนติดต่อกับที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อทำการติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไปกลับคืนได้แต่อย่างใด

 

5.ขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์ ผู้เสียหายจะต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมลเสียก่อน จากนั้นเข้าไปกรอกรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะได้รับเลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID ไว้ใช้ในการติดตามความคืบหน้าทางคดี สอบถาม หรือแจ้งปัญหาได้ตลอดเวลา ไม่มีการให้เพิ่มเพื่อนหรือแอดไลน์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

 

6.เว็บไซต์ปลอมมีองค์ประกอบของเว็บไซต์น้อยกว่าเว็บไซต์จริง และเว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าคลิกเข้าไปสู่ฟังก์ชัน หรือคลิกเข้าไปสู่หน้าอื่นๆ ของเว็บไซต์ได้ ในกรณีเช่นนี้หวังเพียงให้แอดไลน์เพิ่มเพื่อนเท่านั้น

 

7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็ดขาด

 

8.หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้น เพื่อสอบถามและแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที

 

9.หากมีการให้โอนเงินไปยังหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างก่อนที่จะได้รับบริการใดๆ ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

 

10.ผู้ปกครองหมั่นสอดส่อง ดูแล สังเกตพฤติกรรมบุตรหลานอย่างใกล้ชิด