
รู้จัก 'ปรับเป็นพินัย' คืออะไร พิจารณาอย่างไร ผ่อนชำระได้หรือไม่
ทำความรู้จัก 'ปรับเป็นพินัย' คืออะไร การกำหนดค่าปรับเป็นพินัย พิจารณาอย่างไร ผ่อนชำระได้หรือไม่ หลัง ผบ.ตร. ลงนามคำสั่ง เริ่มใช้วันนี้
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามใน คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 591/2566 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการ 'ปรับเป็นพินัย' พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป และได้กำหนดให้กฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 3 ท้าย พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค. 2566 เพื่อให้การดำเนินการตามนัยกฎหมายว่าด้วยการ 'ปรับเป็นพินัย' เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รอบคอบ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการ 'ปรับเป็นพินัย' พ.ศ.2565 จึงให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งตำรวจ เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565
'ปรับเป็นพินัย' คืออะไร
โดยปกติแล้ว การกำหนดโทษทางอาญา ผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีซึ่งอาจมีทั้งปรับ หรืออาจถูกจำคุก ซึ่งหากไม่มีเงินชำระค่าปรับ ก็จะถูกไปกักขังแทน
พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัย คือ กฎหมายกำหนดโทษอาญาหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด จึงได้มีการตรา พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 เปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและทางปกครองมาเป็น โทษปรับพินัย คือ เงินค่าปรับที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐ เป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรง
การกำหนดให้ความผิดทางพินัยมีการชำระ ค่าปรับเป็นพินัย ตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนด ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทน ไม่มีการบันทึกลงในประวัติ ไม่มีสภาพบังคับเป็นโทษอาญา และลดทอนโทษอาญาที่ไม่จำเป็น
"ปรับเป็นพินัย" หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
"ความผิดทางพินัย" หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย
ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย ให้พิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
- ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิดทางพินัย และพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย
- ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม การกระทำความผิด และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดทางพินัย
- ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย
- สถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดทางพินัย
ในการชำระค่าปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดทางพินัยร้องขอ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดไม่อาจชำระค่าปรับในคราวเดียวได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลจะให้ผ่อนชำระก็ได้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565
สาระสำคัญ แนวทางการออกใบสั่งและการดำเนินคดี 'ปรับเป็นพินัย' ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
1. เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย
กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย
2. แนวทางการออกใบสั่ง
กรณีเจ้าหน้าที่รัฐพบผู้ขับขี่กระทำความผิด สามารถออกใบสั่งได้ทั้ง 3 รูปแบบ (ใบสั่งเจ้าพักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือ แสดงไว้ที่รถ / ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์ / ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์) แต่ไม่ให้ออกใบสั่งสำหรับความผิดกฎหมายอื่น คือ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ, ขนส่ง, ทางหลวง, คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ
3. รูปแบบใบสั่งและรายละเอียด
ให้ใช้ใบสั่งได้ทั้ง 3 รูปแบบตามประกาศ การออกใบสั่งให้แก่ผู้ขับขี่แล้วแต่กรณี และให้ลงบันทึกข้อมูลในระบบ PTM ตามแนวทางเดิมที่กำหนด
สรุป พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย
1. พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย ใช้บังคับตั้งแต่ 25 ต.ค. 66
2. ออกใบสั่งได้เฉพาะ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ข้อหาที่มีโทษปรับสถานเดียวเท่านั้น
- ไม่ให้ออกใบสั่ง พ.ร.บ.รถยนต์ฯ, ขนส่ง, ทางหลวง, คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ
3. เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะออกใบสั่งได้ ได้แก่ ตำแหน่ง สว.จร. ขึ้นไป (รอประกาศแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ก่อน)
4. สำหรับ รอง สว. - ผบ.หมู่ ไม่ใช่ จนท.รัฐ หากพบการกระทำความผิด ให้รวบรวมพยานหลักฐาน แล้วนำมาแจ้งต่อ สว.จร. (เจ้าหน้าที่ของรัฐ) เพื่อออกใบสั่งและส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
5. ใบสั่งที่ออกก่อน 25 ต.ค.66 พนักงานสอบสวน รับชำระค่าปรับได้เหมือนเดิม
6. ใบสั่งที่ออกหลัง 25 ต.ค.66 พนักงานสอบสวน ไม่มีอำนาจปรับ เฉพาะ จนท.รัฐ (สว.จร.ขึ้นไป) เป็นผู้ปรับ
7. ผู้ได้รับใบสั่ง ต้องมาชำระค่าปรับภายใน 30 วัน หากเกินกำหนดให้เจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้อง
8. การชำระค่าปรับ ผู้ได้รับใบสั่งอาจขอผ่อนชำระ หรือบริการสาธารณะ ก็ได้ โดย จนท.ของรัฐเป็นผู้พิจารณา (ตร.จะวางแนวทางการผ่อนชำระ)
9. การออกใบสั่ง และการบันทึกใบสั่งในระบบ PTM ให้ดำเนินการตามเดิม
10. การเบิกเป็นเงิน เฉพาะ พ.ร.บ.จราจรฯ ให้เบิกตามระเบียบเดิม
*** ห้ามสั่งขังแทนหากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ***