'รพ.ตำรวจ' ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตรวจรักษาตำรวจและครอบครัว
'รพ.ตำรวจ' เปิดภาระกิจเร่งด่วน ตามนโยบาย 'ผบ.ตร.' ห่วงใยสุขภาพตำรวจ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตรวจรักษาตำรวจและครอบครัว เริ่มงานแรก กองบัญชาตำรวจสอบสวนกลาง ขณะที่ 'กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด' เปิดสายด่วน-เพจ Depress We Care รับปรึกษาภาวะทางจิต
31 ต.ค. 2566 โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นหัวใจหลักในการดูแลรักษาข้าราชการตำรวจ ครอบครัวข้าราชการตำรวจ รวมทั้งประชาชาชนทั่วไป ที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย
บางครั้งข้าราชการตำรวจ บางนายต้องปฎิบัติหน้าที่จนไม่มีเวลามาตรวจร่างกาย หรือ เข้ารับการรักษา ดังนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีนโยบายดูแลเอาใจใส่สุขภาพของข้าราชการตำรวจ โดยมอบหมายให้ โรงพยาบาลตำรวจ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการข้าราชการตำรวจและครอบครัว ณ ที่ตั้งเพื่อความสะดวกในการตรวจรักษา
พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ (สบ 8) รักษาราชการแทนนายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผย "คมชัดลึก" ตามนโยบายเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในการดูแลครอบครัวตำรวจ รวมถึงข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ของโรงพยาบาลตำรวจ
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลตำรวจ จะเริ่มออกหน่วยตรวจครั้งแรก ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยจะมีทีมแพทย์ด้านศัลกรรม อายุรกรรม ทันตกรรม หัวใจ กายภาพบำบัด เสมือนกับการย่อส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ ไปตั้งหน่วยตรวจรักษาข้าราชการตำรวจ และครอบครัว สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
หลังจากนั้นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลตำรวจ จะกระจายไปตรวจรักษาข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ เพื่อดูแลข้าราชการตำรวจ ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ซึ่งแทนที่ครอบครัวตำรวจ และข้าราชการตำรวจ จะเดินทางมาตรวจรักษาเองที่โรงพยาบาลตำรวจ
"ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจและครอบครัว ที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาล รวมทั้งเมื่อรักษาที่โรงพยาบาลอื่น อาจจะไม่ได้รับความสะดวก จำเป็นต้องจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลตำรวจ ไปตรวจรักษากำลังพลถึงหน่วยงานนั้นๆ ทั่วประเทศ"
พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า จากสถิติการตรวจร่างกายข้าราชการตำรวจ ส่วนมากโรคที่พบคือ ความดันสูง อ้วน ไขมันสูง ทางแพทย์ได้มีการแนะนำให้ความรู้ข้าราชการตำรวจต้องรักษาสุขภาพของตัวเอง อย่างเช่น ต้องควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลตำรวจ ยังมีโครงการ ลดละเลิกสูบบุหรี่ หรือที่เรียกว่า "คลินิกฟ้าใส" จนสามารถสร้างเสริมสุขภาพตำรวจดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ความเครียด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นกับข้าราชการตำรวจ ซึ่งทางโรงพยาบาลตำรวจ มีโครงการตรวจสุขภาพจิตตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งมีช่องการให้คำแนะนำ ให้คำปรักษาเรื่องสุขภาพจิต ผ่านสายด่วนฮอตไลน์ และเพจเฟซบุ๊ก Depress We Care ที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้ากับตำรวจ และครอบครัว ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ท.ทวีศิลป์ ฝากถึงข้าราชการตำรวจ ในการดูแลสุขภาพตัวเอง ต้องหมั่นออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง รวมถึงบุคคลกรของโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมที่จะดูแลเรื่องสวัสดิการ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยงานบุคลากร เพื่อให้บริการประชาชน
"โรงพยาบาลตำรวจ ยินดีที่จะดูแลข้าราชการตำรวจ และครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ หากมีปัญหาสุขภาพ สามารถมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลได้ตลอดเวลา"
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลตำรวจ เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่มี กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาข้าราชการตำรวจและครอบครัว รวมถึงประชาชนชนทั่วไป ที่เกิดภาวะความเครียด
พ.ต.อ.เกริกกมล แย้มประยูร นายแพทย์ (สบ 5) หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยถึงภาระกิจหลักๆของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด คือ ตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โดยให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยประมาณ 1,000 รายต่อเดือน ซึ่งทำให้ข้าราชการตำรวจ มีช่องทางด่วนในการขอคำแนะนำปรึกษาเพื่อให้บริการที่รวดเร็ว
ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาพบมากที่สุดคือ ภาวะซึมเศร้า รองลงมาคือ ปัญหาที่เกิดจากการปรับตัวในการปฎิบัติหน้าที่ และความวิตกกังวล โดย กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด จะมีการตรวจสุขภาพจิตของข้าราชการตำรวจ ประจำทุกปี เมื่อพบว่ามีปัญหา หรือประเมินแล้ว มีความเสี่ยงที่อาจก่อเหตุรุนแรงต่อตัวเอง และผู้อื่น ทางเราจะมีนักจิตวิทยาของกลุ่มงานจิตวิทยาและยาเสพติด ติดต่อไปเพื่อประคับประคองจิตใจ แนะนำช่องทางในการเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างเหมาะสม
สำหรับช่องทางการติดต่อ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด มีบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต 2 ช่องทางคือ สายด่วน 08-1932-0000 และ เพจเฟซบุ๊ก Depress We Care ซึ่งท่านใดที่ไม่สะดวกโทรมาปรึกษาพูดคุย สามารถส่งข้อความ เข้ามาที่เพจเฟซบุ๊ก Depress We Care โดยจะมีนักจิตวิทยา คอยให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับสถิติผู้ที่เข้ามาใช้บริการและขอคำปรึกษาที่เพจ Depress We Care ในแต่ละปีจะมีประมาณ 1,400 ครั้ง แบ่งเป็นประชาชน 1,100 ครั้ง ข้าราชการตำรวจและครอบครัว 300 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะความเครียด ซึมเศร้า ปัญหาปรับตัวในครอบครัว และที่ทำงาน
พ.ต.อ.เกริกกมล เปิดเผยถึงการฝึกอบรมบุคลากร กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญให้ข้าราชการตำรวจมีความรู้เรื่องภาวะจิตเวช ในการรู้จักสังเกตุอาการ พฤติกรรมต่างๆที่แสดงถึงความผิดปกติ หรือ สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย รวมถึงสามารถสร้างเครือข่ายดูแลสุขภาพจิตในชุมชน รวมถึงการมีความรู้ต่อภาวะสุขภาพจิต เพื่อส่งต่อผู้เชี่ยวชาญได้ตามความเหมาะสมให้ทันการ
กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ยังมีโครงการฝึกที่ดำเนินการมาแล้ว 2 โครงการ คือ "โครงการสร้างเสริมสุขภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว" เป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ ข้อดีก็คือ สามารถอบรมบุคลากรได้มาก โดยเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 สามารถอบรมข้าราชการตำรวจและครอบครัวได้ถึงประมาณ 7,400 คน ข้าราชการตำรวจ 4,800 นาย และครอบครัวตำรวจ 2,600 คน
และอีกหนึ่งโครงการคือ "ครูแม่ไก่ หรือ โครงการจิตแพทย์น้อย" เป็นโครงการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ โดยการคัดเลือกข้าราชการตำรวจ ที่ผ่านการอบรมแบบออนไลน์ เข้ามาทำการอบรมเชิงปฎิบัติการ แบ่งเป็น 5 รุ่น แต่ละรุ่นประมาณ 100 นาย ซึ่งอบรมไปเมื่อเดือน ก.ย. 2566 มีจำนวนผู้เข้าอบรม 533 นาย
พ.ต.อ.เกริกกมล ฝากคำแนะนำไปถึงข้าราชการตำรวจ และประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ภาวะจิตของตัวเอง ถ้าเริ่มเห็นว่าเริ่มมีความผิดปกติทางภาวะจิต ให้รีบเข้ารับการตรวจรักษาโดยจิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ยินดีให้บริการดูแลสุขภาพจิต ผ่านสองช่องทางคือ สายด่วน 08-1932-0000 และ เพจเฟซบุ๊ก Depress We Care เพื่อให้ทันต่อกันรักษาต่อไป