แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ ร้อง ตร. โดนล่อซื้อ 'สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์'
แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ ร้อง ผบ.ตร.ถูกจับ "สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์" ทั้งที่ไม่มีได้มีสินค้าในมือ แค่โพสต์ขาย ส่งออเดอร์ ให้เพจโกดังโรงงานจัดส่ง เชื่อว่าทำเป็นขบวนการ เรียกเงินผู้ถูกกล่าวหารายละ 50,000-100,000 บาท วอนตำรวจจับตัวการใหญ่ที่ละเมิดจริง
31 ต.ค. 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายเกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี ทนายความ พร้อมด้วย น.ส.อาภาศิริ (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้พนักงานสอบสวน มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมี พ.ต.อ.สมเกียรติ แก้ววิเศษ รองผบก.ส.3 (ปฏิบัติราชการ บก.ส.2) นายตำรวจเวรอำนวยการเป็นตัวแทนรับหนังสือ
น.ส.อาภาศิริ เปิดเผยว่า ตนเคยเป็นพนักงานบริษัท แต่ได้ลาออกมาเพื่อเลี้ยงดูลูก และอยากช่วยครอบครัวหารายได้อีกทาง จึงได้หันไปเป็นแม่ค้าออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้โพสต์ข้อความ ขายสินค้ากระบอกน้ำสแตนเลส ผ่านทางเฟซบุ๊ก จากนั้นวันที่ 27 ก.ค. 2566 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ส่งข้อความมาสั่งซื้อสินค้า ลายชินจัง จำนวน 2 ใบ ราคาใบละ 270 บาท รวม 540 บาท
จากนั้นบุคคลดังกล่าว ได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของตนเอง ตนจึงได้ส่งข้อความไลน์ถึง ชื่อบัญชี ซึ่งเป็นโกดังสินค้าราคาส่ง ขายทุกอย่าง เพื่อให้โกดังสินค้าจัดส่งแก้วให้แก่ลูกค้าตามออเดอร์
ต่อมาวันที่ 9 ต.ค. 2566 มีหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ส่งมาให้ไปรับทราบ ข้อหาฐานกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้า จึงทราบว่าถูกล่อซื้อ จากนั้นจึงหาข้อมูล พบว่ามีคนตกเป็นเหยื่อและเจอลักษณะเดียวกันอีกหลายคน โดยผู้ที่ติดต่อซื้อสินค้าเป็นคนเดียวกันกับกรณีที่จังหวัดราชบุรี
น.ส.อาภาศิริ ยืนยันว่า ตนเองเป็นเพียงคนโพสต์ขายสินค้า โดยนำภาพสินค้าจากโรงงานที่ประกาศทางเฟซบุ๊ก ไม่ได้มีสินค้าอยู่ในความครอบครอง และผู้ที่เป็นผู้จัดส่งสินค้ากับลูกค้า คือโกดังสินค้า ไม่ใช่ตนเอง ส่วนที่ โพสต์ขายสินค้าดังกล่าว เนื่องจากไม่รู้ว่าแก้วสแตนเลสลายชินจัง ของโกดังที่โพสต์ขายนั้น เป็นสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เข้าใจว่าสินค้าของโกดังเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย และได้ส่วนต่างจากการโพสต์ขายสินค้าเพียงใบละ 50 บาทเท่านั้น ซึ่งการโพสต์ขายสินค้าดังกล่าว เป็นการขายสินค้าครั้งแรก ไม่ได้แสวงหาผลกำไรหรือหาประโยชน์จากสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ทนายความ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนเองมองว่ามีการทำกันเป็นขบวนการ และอยากให้ ผบ.ตร.สั่งการหรือดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว และผู้เกี่ยวข้อง ที่มีการจับกุมลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง เพราะมองว่ายังมีขบวนการดังกล่าวอีกมาก เพื่อเรียกเงินจากผู้ที่ถูกกล่าวหาครั้งละ 50,000-100,000 บาท และเรียกร้องให้ตำรวจจับกุมตัวการใหญ่ หรือหากจะทลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ควรจะบุกจับโรงงานใหญ่ๆ ไม่ใช่มาจับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 พ.ย. 2566 เวลา 13.00 น. ตนพร้อมผู้ถูกกล่าวหาจะไปพบพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก และทราบว่าผู้ที่แจ้งดำเนินคดีจะมาในวันดังกล่าวด้วย