'ป.ป.ส.' เคาะถือ 'ยาบ้า' 5 เม็ด คือ ผู้เสพ เตรียมเสนอบอร์ดใหญ่พิจารณา
'พล.ต.ท.ภานุรัตน์' เห็นตรง ตร. ครอบครอง 'ยาบ้า' 5 เม็ด คือ ผู้เสพ หวั่นตัวเลข 10 เม็ดของสธ. เพิ่มผู้ค้ารายย่อย ลุยผลงาน 3 เดือนแรก ผลักดันผู้เสพสีแดงสู่การบำบัดให้ได้
พล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยกรณีกระทรวงสาธารณสุข เสนอการครอบครองยา ต่ำกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ มากกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้ค้า ว่า เดิมประมวลกฎหมายอาญายาเสพติดเมื่อปี 64 เปลี่ยนกรอบแนวคิดใหม่ใช้กระทรวงสาธารณสุขนำการปราบปราม โดยโฟกัส มองผู้เสพเป็นเหยื่อ เป็นผู้ป่วย ดังนั้นก็จะนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง รักษา ฟื้นฟู เพื่อให้เค้าสามารถคืนสู่สภาพสังคม มีงานทำ มีชีวิตที่ดีขึ้น
ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือจนตกผลึกว่า ครอบครองต่ำกว่า 10 เม็ด คือ "ผู้เสพ" เนื่องจากตามปกติแล้วผู้เสพยาบ้าจะใช้ยาอยู่ที่ 1-3 เม็ด ซึ่งปริมาณที่ต่ำกว่า 5 เม็ดผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผู้เสพมีอารมณ์ที่ดี สดชื่น มีแรงในการทำงานหนัก แต่ถ้าหากเสพเกินกว่า 5 เม็ดไปจนถึง 10 เม็ดผู้เสพจะมีอาการกระสับกระส่ายอารมณ์เสีย โมโหง่าย ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และหากเสพมากกว่า 10 เม็ด อาจเสียชีวิต ฉะนั้นเมื่ออ้างอิงจากเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงมีความเห็นว่าผู้เสพน่าจะมีการใช้งานอยู่ที่ 10 เม็ดไม่เกินนี้
แต่ทั้งนี้ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งตนเองที่เคยเป็นตำรวจมาก่อนมองว่า การจัดเกณฑ์ครอบครองเพื่อเสพ 10 เม็ด โทษที่ตามมาคือจะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะในการค้าแต่ละครั้งผู้ค้ารายย่อย จะไม่เกรงกลัวต่อการพกพายาบ้า เพราะสามารถพกได้ถึง 10 เม็ด ก็ไม่ถือว่าได้รับโทษค้า
ในความเห็นส่วนตัวของ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ในฐานะเลขาธิการฯ ป.ป.ส. มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการบำบัดฟื้นฟูคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ขอเก่งการครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ด เกินกว่านี้จะต้องถูกลงโทษเป็นผู้ค้า ซึ่งเหมาะสมที่สุด ไม่กระทบทั้งแพทย ์และผู้บังคับใช้กฎหมาย
โดยเป็นเกณฑ์ที่ตำรวจผู้ยึดหลักนี้มาตลอด ฉะนั้นผู้ค้ารายย่อยเองก็จะมองว่าไม่คุ้มกับการที่พกพา 5 เม็ดแล้วถูกจับโทษหนัก ที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมผู้ใช้สารเสพติด 100 คนจะแบ่งเป็นผู้ค้าจำนวน 12.5 คน
สำหรับการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวานนี้ มีเรื่องเร่งด่วน หรือ quick win คือ เร่งดำเนินการผลักดันผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด
จากข้อมูลที่พบว่าปัจจุบันมีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสพสีแดง ที่มีอาการทางจิตเวชและอาจใช้ก่อเหตุความรุนแรง 32,623 คน แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวัง สูงสุด 1963 คนกลุ่มเฝ้าระวังสูง 5,024 คนและกลุ่มเฝ้าระวังทั่วไป 25,636 คน ซึ่งจะนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อน เพื่อลดเงื่อนไขความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุรุนแรงกับประชาชน
โดยให้ทุกจังหวัดกำหนดวิธีการนำบุคคลเข้าสู่การระบบบำบัดรักษาของกระทรวงสาธารณสุข และสร้างความพร้อมให้กับชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถร่วมกับภาครัฐ ดูแลและเฝ้าระวังเหตุต่างๆได้ เช่นเดียวกับ "หัวโทนโมเดล" ที่ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้อย่างเห็นผล โดยนโยบายดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินนโนบายนโยบาย "1 โรงพัก 1 ตำบล" ให้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชนด้วย
ส่วนการปราบปรามยาเสพติด นายกรัฐมนตรี ประกาศกำหนดพื้นที่เร่งด่วน เพื่อควบคุมการลักลอบนำเข้า ยาบ้าเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 5 อำเภอ จังหวัดเชียงราย 6 อำเภอ และจังหวัดนครพนม 4 อำเภอ โดยหน่วยงานความมั่นคงทั้งทางทหารตำรวจ จะร่วมกันบูรณาการ รวมถึงประสานหน่วยงานความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้าน ประสานข้อมูลและจับตาความเคลื่อนไหว