สรุปปมเด้ง พ.ต.ต.สุริยา อธิบดี DSI ปราบ "หมูเถื่อน" แต่โดนฟ้าผ่าเก้าอี้ทันที
สรุปปมเด้ง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล พ้น อธิบดี DSI ปราบ "หมูเถื่อน" ให้สิ้นซากแต่ฟ้ากลับผ่าเก้าอี้แบบทันที คำสั่งนี้ทำสะเทือนทั้งประเทศหลังสังคมตั้งคำถามเข้า 'ค้นห้างใหญ่ไม่กี่วันโดนย้ายเลยหรือ'
กลายเป็นปมใหญ่โตหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอขอการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย โดยหนึ่งในคนที่ถูกโยกย้ายครั้งนี้คือ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ อธิบดี DSI กระทรวงยุติธรรม ให้ไปนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ผลโยกย้ายถูกประกาศออกไปไม่นาน ก็ถูกตั้งคำถามถึงปมโยกย้ายครั้งนี้ว่าจากประเด็นจัดการ "หมูเถื่อน" แน่นอน
เรื่องราว หมูเถื่อน สะเทือนเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษของ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี DSI ย้อนกลับเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตำรวจภูธรจังหวัด กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเส้นทางการขนย้าย "หมูเถื่อน" เข้ามาในประเทศไทย ตามท่าเรือต่างๆ เพื่อปราบปรามกระบวนการการทำความผิดนำเข้า เนื้อสุกร ชิ้นส่วนสุกรที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งจะดำเนินคดีย้อนหลัง กับการลักลอบ ซากสัตว์หลายชนิด 2835 ตู้ ที่มีการตรวจพบตั้งแต่ปี 2563 - 2566
จุดเริ่มต้นในการเริ่มกระบวนการปราบ "หมูเถื่อน" อย่างจริงจัง มาจากที่ นายกฯ ได้มีการติดตามความคืบหน้าและประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนามบินก่อนจะบินไปประชุมเอเปค โดยในที่ประชุมนายกแสดงสีหน้าไม่พอใจที่คดีไม่มีความคืบหน้ามากเท่าไหร่ พร้อมกับกำชับให้ดำเนินการอย่างถึงที่สุดแบบไม่มีข้อละเว้นกับบุคลคลใด
หลังจากคำสั่งของนายกฯ ออกไปเพียงไม่กี่วัน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และ กลุ่มบุคคลเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยมีการระบุว่า มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนเนื้อสุกรเข้ามา แต่มีการสำแดงเท็จ เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการสำแดงว่าเป็นเม็ดพลาสติกพอลิเมอร์ เพื่อเลี่ยงภาษี การสำแดงว่าเป็นปลาแซลมอน การลักลอบขน หมูเถื่อน ของบริษัทชิปปิ้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่ลักลอบขายตับหมูที่มีเชื้อโรคก่อให้เกิดอาการท้องเสียราว 1.5 ตัน
ถัดจากที่นายอัจฉริยะเปิดโปงกระบวนการค้า "หมูเถื่อน" ไปเพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเดินหน้าปราบ "หมูเถื่อน" อย่างเต็มที่ โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้แแถลงข่าวเพื่อประกาศสงครามกับการค้า "หมูเถื่อน" ทุกชนิด จนกลายเป็นคดีพิเศษตามที่นายกฯ สั่งการ โดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ได้ระบุบางช่วงบางตอนว่า ตามที่กรมศุลกากร สั่งของกลาง "หมูเถื่อน" 161 ตู้ ให้เป็นคดีพิเศษ โดยพบมีพยานหลักฐาน ที่น่าเชื่อว่ามีกลุ่มขบวนการ ส่งผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารและกระทบต่ออาชีพเกษตรกร มีกลุ่มนายทุน กลุ่มข้าราชการประจำและกลุ่มข้าราชการฝ่ายการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง
จุดพีคของเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้อยู่มี "หมูเถื่อน" มากหมายมหาศาลแค่ไหน แต่การเด้ง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ต่างหากที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายถึงกระบวนการปราบปราม หมูเถื่อน ในประเทศว่าว่าสะดุดตออะไรหรือไม่ เพราะหลังจากที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล มีการลงพื้นที่ตรวจค้นห้างสรรพสินค้าขายส่ง และขายปลีก ชื่อดัง เพราะได้รับเบาะแสว่าอาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการ "หมูเถื่อน" เพียงไม่กี่วันก็มีรายชื่อติดโผลการโยกย้ายตำแหน่งของกระทรวงยุติธรรมแบบทันที ซึ่งเจ้าตัวได้ระบุเพียงสั้นๆ หลังจากมีมติ ครม. ออกมาว่า
"ทำใจอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่นี่แล้วครับ ว่าต้องถึงวันนี้ แต่ผมเลือกทางเดินและวิถีของผมเองตั้งแต่ต้น ไม่เสียใจครับเพราะทำเต็มที่แล้ว"
อย่างไรก็ตามเส้นทางการปราบ "หมูเถื่อน" คงไมได้จบลงแค่การโยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล พ้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่คงต้องตามกันต่อไปว่าปัญหาการค้า "หมูเถื่อน" จะถูกจัดการอย่างไร หรือคนไทยต้องเสี่ยงบริโภคเนื้อหมูที่ปนเปื้อน และไม่ได้มาตรฐานต่อไป