ข่าว

2 บริษัทชิปปิ้ง หอบหลักฐานพบดีเอสไอ แจงคดี 'หมูเถื่อน' อ้างโดนกลั่นแกล้ง

2 บริษัทชิปปิ้ง หอบหลักฐานพบดีเอสไอ แจงคดี 'หมูเถื่อน' อ้างโดนกลั่นแกล้ง

01 ธ.ค. 2566

2 บริษัทชิปปิ้ง หอบเอกสารพบ "ดีเอสไอ" ก่อนถูกออกหมายจับ ยัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ "หมูเถื่อน" นำเข้าเพื่อส่งออกไปขายให้เพื่อนบ้านเท่านั้น อ้าง ถูก จนท.รัฐ กลั่นเเกล้ง อายัดหมูไว้ 41ตู้ ไม่ยอมให้ส่งออก เสียหายจนเเทบล้มละลาย วอนขอความเป็นธรรม

1 ธ.ค. 2566  พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ พ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน สอบปากคำ นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด

 

โดยนายบริบูรณ์ เข้าพบพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ  เพื่อให้ปากคำ หลังจากพบว่าทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศ โดยการเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้  เป็นการเข้ามาก่อนที่ ดีเอสไอ จะออกหมายจับ 

 

นาย บริบูรณ์ เปิดเผยว่า ตนมาชี้แจงกับ ดีเอสไอ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าหมูเถื่อน ทั้ง 2 บริษัทของตนนั้น นำเข้าสินค้าประเภทอาหารหลายชนิด เพื่อส่งไปจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ส่งจำหน่ายในไทย ในส่วนของเนื้อหมูที่เกิดปัญหานั้น ทั้ง 2 บริษัทสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ  ทั้งหมด 41 ตู้ ตั้งเเต่เดือนสิงหาคม ปี 2565 นำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย แต่มาติดขัดตรงขบวนการของการอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ ที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้อนุญาต เนื่องจากไม่ยอมอนุญาตให้เคลื่อนย้าย

 

 

2 บริษัทนำเข้าเนื้อหมู หอบเอกสารแจงดีเอสไอ ปัดเอี่ยวขบวนการหมูเถื่อน

 

 

ต่อมาทางบริษัทจึงได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อเอาผิดกรมปศุสัตว์กรณีที่ไม่อนุญาตให้เนื้อหมูของบริษัทตนเองที่นำเข้ามา เคลื่อนย้ายส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว  เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า จนทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ เพราะต้องเสียค่าไฟให้กับท่าเรือแหลมฉบังถึงวันละ 5 แสนบาท แล้วจู่ ๆ ทางกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ ก็มาเหมารวมว่าหมูตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทตนเองเป็นหมูเถื่อนไปด้วย ทั้งที่นำเข้ามาอย่างถูกต้อง ซึ่งทางบริษัทก็ได้ฟ้องร้องไปยังศาลปกครอง และทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรมแล้ว

 

นาย บริบูรณ์  กล่าวอีกว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทของตนเคยร้องเรียนไปยังกระทรวงเกษตรฯ ถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรียกรับผลประโยชน์ จึงอาจทำให้ไม่พอใจจนถูกกลั่นแกล้ง อีกทั้งหมูของกลางทั้ง 41 ตู้ ได้ถูกทำลายทิ้งไปแล้ว ทั้งที่เป็นของกลางที่ควรเก็บไว้ เนื่องจากยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครอง ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับตนเองมากขึ้น

 

วันนี้จึงต้องมาชี้แจงกับทาง ดีเอสไอ เพื่อให้แยกปลาดี ออกจากขัองปลาเน่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับบริษัทของตนเองด้วย

 

 

'DSI' บุกแหล่งรับซื้อ 'หมูเถื่อน' รายใหญ่ ยัน ไมมีแรงกดดันคณะทำงาน

 

เด้งฟ้าผ่า ‘พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล’ พ้นเก้าอี้ อธิบดีดีเอสไอ เซ่น คดีหมูเถื่อน

 

 

 

พ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ

 

 

ด้าน พ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ผู้ถูกกล่าวหารายนี้ มารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับให้ข้อมูล และ เอกสารบางส่วนแก่พนักงานสอบสวนแล้ว เช่น คำฟ้องศาลปกครองและหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งยังต้องนำหลักฐานมาชี้แจงเพิ่มเติมอีก เบื้องต้นทราบว่าทั้ง 2 บริษัทนั้นเป็นบริษัทชิปปิ้ง และ นำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งหลายชนิดเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน 

 

สำหรับคดีหมูเถื่อนที่มีการตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์หมูแช่แข็งที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 161 ตู้ ทั้ง 10 คดี ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งครบแล้ว ข้อกล่าวอ้างต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหานั้น ก็จะต้องนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

 

ส่วนการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายคดีหมูเถื่อนยังคงเดินหน้าต่อไป โดยจะเริ่มปฎิบัติการในสัปดาห์หน้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นองค์กรอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เเละ ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป้าหมายที่จะเข้าตรวจค้น ไม่เกี่ยวข้องกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อีกหนึ่งเเห่ง ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่าเป็นเป้าหมาย 

 

พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีกับ นายบริบูรณ์ ในขัอหานำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 

 

สำหรับกลุ่มบริษัทนำเข้า หรือ ชิปปิ้ง ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ได้ขอศาลอนุมัติหมายจับไปแล้ว 10 ราย ทั้งหมดถูกจับกุมดำเนินตดี และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว ประกอบด้วย

1.น.ส.มณีวรรณ  กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท อาร์.ที.เอ็น.โอเวอร์ซี จำกัด

2.นายโดม  กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติกส์ จำกัด

3.น.ส.นัทธมน  กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

4.นายณัฐวุฒิ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช KANTA THAI FROZEN FISH LIMITED PARTNERSHIP 

5.น.ส.เจนจิรา  กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช KANTA THAI FROZEN FISH LIMITED

6.นายศักดา  กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด MY HOUSE TRADING CO.,LTD. 

7.นายโกญจนาท  กรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด

8.นายวีรศักดิ์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์

9.นายพิเชฐ  กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท ซี เวิรล์ โฟรเซ่น ฟูด จำกัด

10.นายสมนึก  กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด 

 

ส่วนอีก 2 บริษัทที่เตรียมขอศาลออกหมายจับ คือ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยมีนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ซึ่งวันนี้ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ มาเข้าพบพนักงานสอบสวน หลังจากที่ทราบว่าชื่อของบริษัทไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อน

 

โดยทั้ง 2 บริษัทนี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตู้คอนเทเนอร์หมูเถื่อน 161 ตู้ ที่อยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง โดยพบว่าในจำนวนดังกล่าว มีจำนวน 41 ตู้ เป็นของ 2 บริษัทนี้ และยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มค้าหมูเถื่อนซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ ที่ดีเอสไอ เพิ่งตรวจสอบพบว่ามีความเชื่อมโยงกับอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ อักษรย่อ ป.

 

ในส่วนของกลุ่มนายทุนที่เป็นผู้สั่งบริษัทชิปปิ้งนำเข้าหมู จับกุมไปแล้ว 2 ราย คือ นายวิรัช และ นายธนกฤต 2 พ่อลูก  และ ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาซึ่งเป็นนายทุนเพิ่มไปอีก 1 ราย โดยรายใหม่นี้
เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด