ข่าว

ช่างกล้า  มิจฉาชีพ ฉกภาพทำปก ไลน์ปลอม 'DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ' หลอกลวงประชาชน

ช่างกล้า มิจฉาชีพ ฉกภาพทำปก ไลน์ปลอม 'DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ' หลอกลวงประชาชน

10 ธ.ค. 2566

"กรมสอบสวนคดีพิเศษ" แจ้งเตือนพบ มิจฉาชีพปลอมไลน์ชื่อ "DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ" ใช้ภาพแถลงข่าวเป็นภาพปก หลอกประชาชนว่าเป็นช่องทางติดต่อกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยแพร่สู่สาธารณชน

10 ธ.ค. 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพ นำภาพประกอบการแถลงข่าว ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2566 มาใช้เป็นภาพปกของ แอปพลิเคชันไลน์ปลอม โดยใช้ชื่อ ไลน์ "DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ" 
            

 

ดีเอสไอ แจ้งเตือน มิจฉาชีพ ใช้ภาพแถลงข่าวเป็นปกไลน์ปลอมหลอกลวงประชาชน

 

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2566 เวลา 15.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการแถลงข่าวความคืบหน้าคดีสำคัญ ณ ห้องแถลงข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับผู้แทนของสำนักงาน ปปง. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)

 

 

มิจฉาชีพ ใช้ภาพประกอบการแถลงข่าว เป็นภาพปกไลน์ปลอม หลอกลวงประชาชน

 

 

และมีการเผยแพร่ภาพข่าว ปรากฏว่าในวันที่ 9 ธ.ค. 2566 มีกลุ่มมิจฉาชีพได้นำภาพการแถลงข่าวดังกล่าวไปเป็นภาพปกของแอปพลิเคชันไลน์ ใช้ชื่อว่า "DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ" เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นช่องทางติดต่อกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยแพร่สู่สาธารณชน

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเน้นย้ำว่าช่องทางการการติดต่อเพื่อร้องทุกข์ ร้องเรียน แจ้งเบาะแส หรือติดตามสถานะความคืบหน้าทางคดี คือ เว็บไซต์ www.dsi.go.th เท่านั้น และขอให้ข้อสังเกตแก่ประชาชนว่า หากได้รับลิงค์เว็บไซต์ที่ต้องสงสัยขอให้ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ที่ลงท้ายก่อนทุกครั้ง

 

ซึ่งเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาล ส่วนราชการ กระทรวง/กรม จะลงท้ายด้วย .go.th โดยย่อมาจาก Government of Thailand ​และจะไม่มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษติดต่อผู้เสียหายให้แจ้งความออนไลน์ทาง Line หรือให้โหลดแอปพลิเคชัน หรือให้โอนเงินเป็นค่าดำเนินการใด ๆ เพราะฉะนั้นขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ ซึ่ง Line@ ที่เป็นทางการ หรือ Line Official ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีเพียง Line @checkdidsi เฉพาะกิจแชร์ลูกโซ่ ซึ่งกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบได้พัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยประชาชนประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะนำเงินไปร่วมลงทุนธุรกิจใด ๆ   ว่าเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น​​​​เท่านั้น
           

 

ช่องทางแจ้งเรื่องกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

 

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน