รองอธิบดีอัยการ-ผช.ผบ.ตร. ประชุมคืบหน้า คดี 'เป้ 140 ล้าน'
รองอธิบดีอัยการ ร่วมหารือ ตำรวจชุดทำงานคดี "เป้ 140 ล้าน หลัง ผบ.ตร. เซ็นตั้ง "บิ๊กอ้อ" พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนคนใหม่ จัดพนักงานสอบสวนเเน่น 60 กว่าคน
19 ธ.ค. 2566 ที่ ห้องประชุมชั้น 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) พล.ต.ท.สุรพล เปรมบุตร ผู้บัญชาการประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบช.ประจำ ตร.) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง.ผบช.ก.) เข้าร่วมประชุมพร้อมชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน คดี 140 ล้าน
คดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีการกล่าวหา พล.ต.ต. กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี (ผบก.จ.ชลบุรี ) กับพวกรวม 10 ราย ตลอดจนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ในข้อกล่าวหา
- เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
- เป็นเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
- ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
- ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
- และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
กรณีดังกล่าว เป็นผลพวงจากการไปจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนัน แล้วนำตัวไปรีดเงินจำนวน 140 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเคลียร์คดี จนมีวลีเด็ดว่า "เป้รักผู้การเท่าไหร่ เป้เขียนมา" แต่ภายหลังกลุ่มผู้ต้องสงสัยไม่พอใจกับพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม จึงได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.คูคต จังหวัดปทุมธานี เพื่อดำเนินคดีกับตำรวจชุดดังกล่าว
ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณา และต่อมา ป.ป.ช. ก็มีคำสั่งให้ส่งสำนวนกลับมาให้ชุดพนักงานสอบสวนทำคดีต่อ
ซึ่งคดีดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะต้องมีพนักงานอัยการเข้าไปร่วมสอบสวนกับตำรวจในชั้นสอบสวนด้วย ซึ่งเดิมทีเป็นอำนาจของสำนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี แต่เนื่องด้วยมีการเกิดเหตุในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และเชียงราย
ทางสำนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี จึงทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ว่าเห็นควรให้ทำคดีนี้อย่างไร ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุด ก็ได้มีคำสั่งให้สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ทำคดีร่วมสอบสวนกับตำรวจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานทำสำนวนเสนอไปยังอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตฯ พิจารณา