นครบาลแจงยิบ 8 ข้อ หลังอัยการฯตีกลับสำนวนเยาวชน14 'กราดยิงพารากอน'
กองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงเหตุสั่งฟ้องเยาวชน14 "กราดยิงพารากอน" เผยเยาวชนเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี ให้การได้ว่า สั่งซื้ออาวุธ-กระสุนอย่างไร แต่ไม่ให้การถึงเหตุกราดยิง
1 ม.ค. 2567 จากกรณีสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ส่งกลับสำนวนคดี เยาวชน 14 ปี กราดยิงพารากอน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลับมาให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน โดยให้เหตุผลว่ากระทำผิดกระบวนการ มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 มาตรา 134 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ถือเป็นการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กโดยมิชอบ
รวมทั้งในเวลาต่อมาแพทย์มีความเห็นว่าผู้ต้องหายังไม่มีความสามารถในการต่อสู้คดีได้ ตามหลักกฎหมายจึงต้องระงับคดีเอาไว้ก่อน จนกว่าแพทย์จะมีความเห็นว่าผู้ต้องหาสามารถต่อสู้คดีได้ จึงจะแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีต่อไป โดยคดีมีอายุความ 20 ปี นั้น
ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ชี้แจงกรณีดังกล่าว 8 ข้อ ดังนี้
1.คดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ ผู้ต้องหาเป็นเยาวชนอายุสิบห้าปี ใช้อาวุธปืนบีบีกันดัดแปลง ยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่เลือกหน้า ภายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ไปจำนวน 42 นัด ยังเหลือกระสุนอีก 8 นัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 4 ราย มีทรัพย์สินของผู้ประกอบการร้านค้าเสียหาย ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าระงับเหตุและควบคุมตัวมาดำเนินคดี
2.ทางการสืบสวนผู้ต้องหาเป็นนักเรียน ม.2 ของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ไม่เคยถูกพักหรือหยุดเรียน มีความรู้ ความเข้าใจ เพราะสามารถสั่งซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง เคยเข้าสนามยิงปืนและหัดยิงปืนกับผู้ปกครอง 3 ครั้ง ต่อมาสามารถวางแผนเข้าไปยิงปืนในสนามยิงปืนได้ ทั้งที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ถือได้ว่า มีความรู้เรื่องอาวุธและมีทักษะในการยิงปืนเป็นอย่างดี
3.วันที่ 4 ต.ค. 2566 ได้ส่งตัวเยาวชนไปไต่สวนการจับที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง ระหว่างสอบสวนได้ผัดฟ้องและฝากขัง โดยลำดับ ภายหลังทราบว่า สถานพินิจฯ ได้ส่งเยาวชนไปสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจสภาวะทางจิตของผู้ต้องหา
4.วันที่ 27 ต.ค. 2566 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มีหนังสือให้พนักงานสอบสวน เข้าสอบปากคำเยาวชนได้ เพราะจิตแพทย์เจ้าของไข้รับรอง พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำเยาวชนเป็นผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 โดยดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มีอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ ที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) บิดา ร่วมสอบสวนด้วย
5.ระหว่างสอบสวนผู้ต้องหาสามารถรู้และเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยผู้ต้องหาสามารถให้การได้ว่า สั่งซื้ออาวุธและเครื่องกระสุนอย่างไร มีเพื่อนสนิทเป็นใคร ฝึกซ้อมยิงปืนกี่ครั้ง ที่ใดบ้างและคำถามอื่นๆ เพียงแต่ไม่ให้การถึงเหตุการณ์ที่ตนก่อขึ้นเท่านั้น ระหว่างสอบสวนทั้งพนักงานสอบสวนและผู้เข้าร่วมสอบสวนทุกฝ่าย ไม่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 อันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงได้ร่วมลงชื่อในบันทึกปากคำและบันทึกวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน
6.เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี พบว่า ผู้ต้องหามีความสามารถในการรับรู้กาล เวลา สถานที่ บุคคลและสิ่งต่างๆ รอบตัว ความสามารถในการรับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากคดี แต่ไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้ของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง จึงสรุปผลประเมินว่า ไม่สามารถต่อสู้คดีได้
7.วันที่ 21 ธ.ค. 2566 เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ลำพังการปฏิเสธไม่รับรู้และให้การเรื่องราวที่ตนก่อขึ้น ยังไม่ถึงขั้นจะเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนเชื่อและเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นบุคคลวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงสรุปสำนวนการสอบสวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาเสนอพนักงานอัยการ
8.อย่างไรก็ตาม แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 วรรคแรกและวรรคสอง จะให้อำนาจพนักงานสอบสวนหรือศาลเท่านั้น มีดุลพินิจที่จะเชื่อหรือเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยวิกลจริตและ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน มีความเห็นแตกต่างและคืนสำนวนการสอบสวนมา พนักงานสอบสวนก็น้อมรับปฏิบัติและจะได้ติดตามผลจากจิตแพทย์อย่างใกล้ชิด ทันทีที่ได้รับรายงานว่า ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้คดีได้ จะนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีภายในกำหนดความ 20 ปี ต่อไป