สั่งปิดยาว 5 ปี ร้านสุขสันต์ขอนแก่น เซ่นปม “สมรักษ์”
ผู้ว่าฯขอนแก่น ลงแส้ สั่งปิด 5 ปี “ร้านสุขสันต์ขอนแก่น” เซ่นปม “สมรักษ์ - สาว 17” ชี้จงใจให้เยาวชนเข้าใช้บริการ เปิดเกินเวลา
เมื่อวันที่ 4 ม.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการเผยแพร่หนังสือ คำสั่งจังหวัดขอนแก่น เรื่อง สั่งปิดสถานบริการชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" ตั้งอยู่เลขที่ 212 ถนนประชาสำราญ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยในหนังสือระบุว่า ด้วยจังหวัดขอนแก่นได้รับรายงานจากอำเภอเมืองขอนแก่นว่า มีเยาวชนอายุประมาณ 17 ปี เข้าไปใช้บริการสถานบริการชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" และถูกบุคคลพาไปโรงแรมเพื่อการอนาจาร และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ดูแลสถานบริการชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" โดยกล่าวหาว่า (1) เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้บุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ (๒) เปิดทำการเกินกว่าเวลาที่มีกฎหมายบัญญัติ
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้คู่กรณี ผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการทราบและให้โอกาสโต้แย้งข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคำสั่งทางปกครอง โดยแจ้งให้แสดงพยานหลักฐานและข้อโต้แย้งหรือข้อเท็จจริงเป็นหนังสือยื่นต่อจังหวัดขอนแก่นแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พิจารณาจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาจากหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของคู่กรณีแล้ว เห็นว่า
1.ประเด็นข้อกล่าวหา "ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้นเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ" นั้น ผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการมิได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้แต่อย่างใด โดยเพียงแต่อ้างว่าในคืนเกิดเหตุพนักงานรักษาความปลอดภัย (การ์ด) ที่ได้รับมอบหมายมีความบกพร่อง ประมาทเลินเล่อ ไม่ใส่ใจในหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้สั่งให้พนักงานรักษาความปลอดภัย (การ์ด) หยุดปฏิบัติหน้าที่และให้ออกจากบริษัทแล้ว
ดังนั้น ประเด็นข้อกล่าวหานี้ จึงเห็นว่า ผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการมีพฤติการณ์เปิดสถานบริการโดยยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้นเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการจริง
2.ประเด็นข้อกล่าวหา "เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ" นั้น ผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการมิได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้แต่อย่างใด โดยเพียงแต่อ้างว่าในคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลร้านได้ให้ดีเจเปิดเพลงในระหว่างจะปิดร้านและจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ เนื่องจากเห็นว่ายังมีลูกค้าบางโต๊ะที่สั่งเครื่องดื่มและดื่มยังไม่หมดจนกระทั่งพนักงานจัดเก็บร้านแล้วเสร็จ ดังนั้น ประเด็นข้อกล่าวหานี้ จึงเห็นว่า ผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการมีพฤติการณ์เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติจริง
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พิจารณาจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและข้อชี้แจงโต้แย้งจากคู่กรณีแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 21.30 น. มีบุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ซึ่งเป็นเยาวชนได้เข้าไปใช้บริการสถานบริการ ชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" ตั้งอยู่เลขที่ 212 ถนนประชาสำราญ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ เลขที่17/2566 โดยขณะจะเข้าไปในสถานบริการดังกล่าว เยาวชนรายดังกล่าวได้ยื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่บันทึกภาพ บัตรประจำตัวประชาชนของตนให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของสถานบริการตรวจสอบ ปรากฎว่า พนักงานของสถานบริการดังกล่าวได้ใช้วิธีการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนจากภาพถ่ายที่เยาวชนรายดังกล่าวได้ถ่ายไว้ โดยมิได้ตรวจสอบจากบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นเอกสารราชการที่มีภาพถ่าย หรือตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชั่น ThaiD ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่กรมการปกครองได้กำหนดให้ใช้แทนได้
อีกทั้ง การที่พนักงานของสถานบริการได้ตรวจสอบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเยาวชนรายดังกล่าว น่าเชื่อได้ว่าพนักงานของสถานบริการได้เห็นวัน เดือน และปีเกิด ของเยาวชนรายดังกล่าวแล้ว แต่กลับยังคงให้เยาวชนรายดังกล่าวได้เข้าไปใช้บริการภายในสถานบริการ ซึ่งถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบอายุของผู้จะเข้าใช้บริการ จึงเป็นเหตุให้มีบุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ได้เข้าไปใช้บริการ อันแสดงให้เห็นว่าสถานบริการ ชื่อ"สุขสันต์ขอนแก่น" มีเจตนาจงใจให้เยาวชนเข้าไปใช้บริการ จนกระทั่งภายหลังเกิดเหตุมีบุคคลพาเยาวชนไปเพื่อการอนาจารและเยาวชนรายดังกล่าวได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าได้ถูกบุคคลพาไปเพื่อการอนาจารที่โรงแรม โดยได้รับความเสียหายต่อสวัสดิภาพทางกายและจิตใจของเยาวชน และเกิดความเสียหายต่อภาพรวมของจังหวัดขอนแก่น
เมื่อพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ของการกระทำความผิดของผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" แม้สถานบริการชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" มิได้เคยถูกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานบริการ เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกสั่งปิดสถานที่มาก่อน แต่เมื่อพิจารณาการใช้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อลงโทษสถานบริการที่มีพฤติการณ์จงใจฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของเยาวชน แต่ยังยินยอมให้เยาวชน รายดังกล่าวเข้าไปในสถานบริการของตน จนกระทั่งเกิดความเสียหายทั้งกายและจิตใจต่อเยาวชนรายดังกล่าว ซึ่งในการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการจะต้องให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันและควบคุมมิให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการอย่างเคร่งครัด โดยต้องมีมาตรการที่เพียงพอสำหรับควบคุมหรือป้องกันไม่ปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการในสถานบริการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เห็นว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดอันมีพฤติการณ์อย่างร้ายแรงการที่ในวันเกิดเหตุมีเยาวชนเข้าไปใช้บริการและเกิดเหตุมีบุคคลพาไปเพื่อการอนาจารที่โรงแรม ถือได้ว่าผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" ไม่มีมาตรการที่เพียงพอและได้ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการในสถานบริการของตน นอกจากนี้ สถานบริการชื่อ “สุขสันต์ขอนแก่น" ได้ขออนุญาตตั้งสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (1) ปิดทำการเวลา 02.00 น. แต่ปรากฎว่า เมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 10 ธันวาคม 2566 อันเป็นเวลาที่สถานบริการดังกล่าวต้องปิดทำการตามกฎหมาย ปรากฎว่า สถานบริการดังกล่าวมิได้ปิดทำการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ยังคงปล่อยให้ผู้เข้าใช้บริการใช้บริการภายในร้านจนถึงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 10 ธันวาคม 2566 จึงถือเป็นพฤติการณ์เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
ดังนั้น จากพฤติการณ์ทั้งหมดข้างต้น จึงถือว่าสถานบริการดังกล่าวฝ่าฝืนข้อ 4 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ข้อ ๔ วรรคสอง จึงสั่งปิดสถานบริการ ชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" ตั้งอยู่เลขที่ 212 ถนนประชาสำราญ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ เลขที่ 17/2566 และห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวอีกเป็นเวลาห้าปี
ทั้งนี้ ผู้ใดเปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งปิดตามข้อ 4 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามนัยข้อ 6/1(1) ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 46/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 อนึ่ง คำสั่งปิดสถานที่ให้เป็นที่สุด หากผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการชื่อ "สุขสันต์ขอนแก่น" ประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองขอนแก่นหรือส่งทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองขอนแก่น ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำสั่ง ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2567