หวั่นถนนกาญจนาฯทรุดเพิ่ม การประปาเร่งซ่อมอุโมงค์ส่งน้ำ
สั่งเช็กทุกชั่วโมง หวั่น ถ.กาญจนาฯ ใกล้ต่างระดับพระราม 2 ทรุดเพิ่ม การประปาเร่งซ่อมอุโมงค์ส่งน้ำ คืนผิวจราจร เร่งระบายรถติดสะสมเป็นทางยาว
จากกรณีเกิดเหตุถนนทรุดตัว บริเวณใกล้เคียงต่างระดับพระราม2 ช่วงหน้าปั๊มน้ำมันชัสโก้ ถนนกาญจนาภิเษก มุ่งหน้าต่างระดับพระราม 2 แขวงคลองบางบอน เขตบางบอน โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณถนน 3 เลนในช่องทางคู่ขนาน เกิดทรุดตัวลงประมาณ 60 ซม. กว้างประมาณ 50 เมตร ทำให้ถนนแอ่นลักษณะคล้ายแอ่งกระทะขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จราจร สน.ท่าข้าม ได้ปิดกั้นการจราจร ถนนฝั่งคู่ขนานทั้งหมด ทำให้เหลือช่องจราจรในช่องทางด่วนเพียง 1 ช่องทาง ส่งผลให้รถติดสะสมจำนวนมากนั้น
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 นายเกรียงไกร เดชไชยปราการ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงธนบุรี เปิดเผยว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่จาก การประปานครหลวงตรวจสอบพบจุดที่เป็นต้นเหตุของน้ำรั่วไหลและกำลังซ่อมแซม โดยพบว่าสาเหตุมาจากชิ้นส่วนของอุโมงค์หลุด ทำให้โครงสร้างดินของชั้นทางไหล ลงไปในอุโมงค์ของการประปา และในวันนี้ เวลา 08:00 น. เจ้าหน้าที่จะเข้ามาทำการตรวจสอบเพื่อเช็กระดับการทรุดตัวว่ามีการทรุดตัวเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หากไม่มีการทรุดตัวเพิ่มจะทำการปรับระดับถนนชั่วคราว โดยใช้แอสฟัลท์(ยางมะตอย) เพื่อคืนผิวการจราจร ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ เบื้องต้นพบว่าระดับถนนไม่มีการทรุดเพิ่มเติมแล้ว แต่ส่วนนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบทุกครึ่งชั่วโมง เพื่อประเมินสถานการณ์
ด้าน นายศุภโชค มีอำพล รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 เปิดเผยว่า ในส่วนของการรับผิดชอบซ่อมแซม การประปานครหลวงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจากมีการขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงในการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน การซ่อมแซมถนนตรงจุดนี้แบบถาวรทางกรมทางหลวงจะต้องเป็นผู้กำกับดูแล ส่วนรูปแบบการซ่อมแซมนั้น จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบโดยจะต้องสร้างชั้นทางขึ้นมาเป็นชั้น ๆ แล้วจึงปูพื้นผิวเป็นขั้นตอนสุดท้าย ตามมาตรฐานของกรมทางหลวง จะเหมือนกับการทำถนนใหม่ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน หรือ 1 สัปดาห์
ขณะที่ นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง ที่เดินทางมาร่วมตรวจสอบหาสาเหตุ เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ก่อน รวมทั้งต้องตรวจสอบวัดระดับพื้นถนนว่าทรุดลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยให้เจ้าหน้าที่คอยตรวจวัดทุก ๆ ชั่วโมง ส่วนการดำเนินการซ่อมแซมที่จะเริ่มในเช้าวันที่ 6 ม.ค.67 ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญลำดับแรก เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องคืนผิวจราจรเพื่อรถสัญจรได้ตามปกติ แต่ถ้าหากถนนยังทรุดลงอย่างต่อเนื่อง แผนการซ่อมแซมเดิมก็อาจจะล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ จุดที่เกิดเหตุ เป็นโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ภายใต้โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 จำนวน 4 โครงการ ความยาวอุโมงค์ส่งน้ำ รวมประยะทาง 43.37 กิโลเมตร ใช้งบประมาณกว่า 17,100 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการจ่ายน้ำประปาจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
ตรงจุดนี้เป็นแนวอุโมงค์เส้นทางที่ 3 ของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก ตั้งแต่ถนนกัลปพฤกษ์ ถึงสถานีสูบจ่ายน้ำบางมด พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง (สัญญา G-TN-9C) ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร มีความคืบหน้า ร้อยละ 33.23 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2568 และตรงจุดดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า แท่นหัวเจาะได้ฝังลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ชิ้นส่วนของอุโมงค์ส่งน้ำหลุดออกจากกันจึงเป็นเหตุให้ถนนเกิดการทรุดตัว