ข่าว

พลิกแฟ้ม ‘คดีหมูเถื่อน’ จากต้นตอถึงจุดจบ โยงคนใกล้ชิดนักการเมือง

พลิกแฟ้ม ‘คดีหมูเถื่อน’ จากต้นตอถึงจุดจบ โยงคนใกล้ชิดนักการเมือง

22 ม.ค. 2567

พลิกแฟ้ม ‘คดีหมูเถื่อน’ จากต้นตอถึงจุดจบ ดีเอสไอดำเนินคดีคนใกล้ชิดนักการเมือง จะตอบคำถามสังคมได้อย่างไร ?

พลิกแฟ้ม ‘คดีหมูเถื่อน’ จากต้นตอถึงจุดจบ โยงคนใกล้ชิดนักการเมือง

ถามว่า หมูเถื่อน มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ช่วงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เริ่มตรวจสอบเมื่อมิ.ย.66 เท่านั้น เพราะยิ่งสาวยิ่งเจอ ยิ่งเกาะติดยิ่งบานปลาย

คดีนี้ดีเอสไอรับเรื่องจากกรมศุลกากร มาดำเนินการสืบสวนสอบสวนเชิงลึกเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.66 จากนั้น วันที่ 5 ก.ค.66 เข้าตรวจยึดได้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้

ก่อนเรื่องราวกลายเป็นคดีใหญ่ที่มีความเสียหายมหาศาล เมื่อขยายผลย้อนหลัง ม.ค.64-ก.ค.66 พบ 18 สายเรือ (บริษัท) นำเข้าหมูเถื่อน 2,385 ตู้ ปริมาณ 76,000 ตัน จำนวนนี้ 1,685 ตู้ น้ำหนัก 42,000 ตัน ถูกกระจายไปทั่วประเทศแล้ว

และจากหลักฐานตู้สินค้าที่ตกค้าง 161 ตู้ ดีเอสไอออกหมายจับ 12 หมาย จาก 8 บริษัท และมีการพิจารณาทยอยออกหมายจับเพิ่ม

เดือน พ.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วนก่อนไปประชุม APEC โดยทางดีเอสไอ แบ่งกลุ่มผู้ทำผิด เป็น 3 กลุ่ม 1.บริษัทนำเข้า จับกุมแล้ว 10 ราย 2.นายทุนสั่งหมูเถื่อน จับกุมแล้ว 2 ราย และ 3.บริษัทห้องเย็น

“ผมเชิญท่านมาพบ ท่านมาที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วรอบหนึ่ง ทำไมช้าจัง จัดการให้มันเร็วๆ หน่อยได้ไหม มันจับมาได้ตั้งเยอะแยะแล้ว ทำไมไม่สั่งการสักทีหนึ่ง ผมสั่งการไปแล้วก็ไม่ทำ ไม่หาตัวรายใหญ่ เข้าถึงตัวไม่ได้สักที ตอนนี้มีกี่ราย ตอนนี้จับมามี 10 รายแล้วใช่ไหม” นายกรัฐมนตรีฟาดแรง

ขณะที่มูลค่าความเสียหาย คำนวณคร่าวๆประมาณ 70,000 ล้านบาท ส่วนความเสียหายต่อสุขภาพคนไทยไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้ ทั้งมาจากสารปนเปื้อน สารเร่งเนื้อแดง สารตกค้าง โรคระบาด ที่อาจติดมากับเนื้อหมู และทำลายสุขภาพของผู้บริโภค

นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้ทำงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตลอดจนทั้งยึดและอายัดทรัพย์ของกลุ่มบริษัทนำเข้าและกลุ่มนายทุน จากคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ มีทั้งที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีธนาคาร มูลค่ารวม 53 ล้านบาท

ในส่วนของการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง พบว่ามีการละเลยการตรวจสอบและตรวจปล่อยสินค้าตามกฎระเบียบและเอื้อประโยชน์ให้มิจฉาชีพนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามา ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศ โดยเฉพาะการเข้าแทรกแซงตลาด ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูไทยต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน กรณีนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรโดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ให้กลับมาแข่งขันตามกลไกตลาดได้

ระหว่างนั้นมีการพาดพิงถึงชื่อนักการเมืองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหลายราย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องนับ 10 ราย

กระทั่ง 28 พ.ย.66 มีคำสั่งโยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ มารักษาราชการอธิบดีดีเอสไอ

8 ธ.ค.66 ดีเอสไอแถลงความคืบหน้า แบ่งคดีเป็น 2 ช่วง รวม 10 คดี ช่วงที่ 1 คดีหมูเถื่อน 161 ตู้ และ ช่วงที่ 2 คดีที่เอกชนสั่งหมูเข้าประเทศ มี 9 บริษัท

19 ธ.ค.66  ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขีดเส้นดีเอสไอ สรุปจบคดีหมูเถื่อนภายในวันที่ 31 ธ.ค.66

ต่อมา พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน รับคดีพิเศษเพิ่มเติมอีก 2 คดี ในคดีหมูเถื่อน กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสอบสวนหาผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด

9 ม.ค. 67 ออกหมายจับ ผู้ต้องหา 5 คน  มีนายสมเกียรติ หรือเฮียเกียรติ อดีตเลขาฯนักการเมืองดัง นายหยาง ยาซุง น.ส.นวพร กลุ่มนี้มอบตัวเมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 ให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัวไป นายหลี่หรือเฮียเก้า มอบตัวดำเนินคดีวันที่ 22 ม.ค.67 และนายกรินทร์ ลูกชายเฮียเก้า ซึ่งมีนามสกุลพ้องกับญาตินักการเมืองดัง (ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี)

ทั้งหมดถูกดำเนินคดี ข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น  , หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯลฯ 

จากข้อมูลดีเอสไอพบว่า เฮียเก้า เป็นนายทุนรายใหญ่ ลักลอบนำเนื้อหมู เนื้อวัว ตีนไก่ เข้ามา ก่อนจะสำเเดงเท็จเป็นสินค้าในไทย ก่อนนำส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เเละส่งขายในไทย  คดีนี้ยังเกี่ยวข้องกับข้าราชการ อดีตนักการเมืองหลายคน

นอกจากนี้ คดียังโยงไปถึง หนึ่งในผู้ต้องหา ที่นามสกุลพ้องกับพี่ชายนักการเมืองดัง และผู้ต้องหาอีกคน เป็นอดีตเลขาฯนักการเมืองดัง อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ทางฝ่ายนักการเมืองคนดังกล่าว ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน เพียงแต่บรรพบุรุษที่ประเทศจีนรู้จักกัน จึงอนุญาตให้ใช้นามสกุล

“ผมก็กล้าพูดว่าผมเป็น รมต.ที่สุจริตคนหนึ่งเหมือนกัน ผมถึงกล้าพูดว่าผมไม่เคยแตะเงินโสโครก”นักการเมืองดังลั่นวาจาเอาไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดีมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีบุคคลใกล้ตัว ไปพัวพันก็คดี จะตอบคำถามสังคมได้อย่างไร