ข่าว

จากปาก 'รมว.ยุติธรรม' ปม 'ทักษิณ' นอนนอกคุก ควบคุมตัว=ได้รับโทษ

จากปาก 'รมว.ยุติธรรม' ปม 'ทักษิณ' นอนนอกคุก ควบคุมตัว=ได้รับโทษ

06 ก.พ. 2567

'พ.ต.อ.ทวี' ชี้ 'ทักษิณ' พักโทษ เป็นอำนาจ คกก.ราชทัณฑ์พิจารณา แจงกระแสไม่รับโทษแม้แต่วันเดียว ควบคุมตัวคือได้รับโทษแล้ว ขณะที่คดี 112 อัยการ-ตำรวจ ขออายัดตัวสอบสวนได้

กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษ 18 ก.พ. นี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ปกติกรมราชทัณฑ์จะมีการประชุมพักโทษในทุกเดือนมาถึง แต่ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารมาถึงตน

 

ส่วนวันดังกล่าวนายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทางคณะกรรมการต้องดูทุกเรื่อง และให้คณะกรรมการของราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ รวม 19 คน ทั้งกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ศาล อัยการ ตำรวจ การพักโทษจะมีทุกเดือน แต่ละเดือนมีหลายร้อยคน

ทั้งนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบว่า ในเอกสารการพักโทษมีชื่อของนายทักษิณด้วยหรือไม่ แต่การพิจารณาพักโทษคือยังทำโทษอยู่ จะพิจารณาเป็นเหตุไป บางเหตุก็ไม่ให้พักโทษ และนายทักษิณจะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของอัยการ

 

พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า การให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จนไปถึงการพักโทษ เป็นไปตามกฎหมาย และกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่เป็นกฎกระทรวงที่ออกจาก ครม. ชุดที่แล้ว และเรื่องการรักษาตัวในโรงพยาบาลใช้คำว่าห้องถูกควบคุม ​​​​​​ซึ่งในอดีตก็มีอย่างนี้เยอะ ผู้ที่เจ็บป่วยก็จะถูกควบคุมในห้องควบคุมที่โรงพยาบาล และดุลพินิจนี้ก็ขึ้นอยู่ที่โรงพยาบาลว่า จะให้อยู่ห้องควบคุมพิเศษหรือห้องควบคุมทั่วไป ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่ประชาชนสนใจ และมีความละเอียดอ่อน เราต้องยึดตามกฏหมาย และการปฎิบัติทุกอย่างตรวจสอบได้

 

เมื่อถามว่ามีเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ทราบเลย ไม่มี

 

ส่วนสังคมตั้งคำถามนายทักษิณไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัว ก็คือได้รับโทษ แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่าง

ส่วนกรณีการอายัดตัวนายทักษิณ ในคดี ม.112 พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งการสอบสวนทางอัยการสูงสุดจะประสานตำรวจมาร่วมการสอบสวน การอายัดตัวถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง 

 

หากมีผู้กระทำผิดอยู่ในคดีอื่น และถูกควบคุมตัวก็จะมีการอายัดตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน หากสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการสั่งสำนวนฟ้องหรือไม่ ซึ่งในส่วนของกรมราชทัณฑ์ก็มีเรื่องการขออายัดตัว และจะอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานสอบสวนและอัยการ โดยเมื่อสอบสวนเสร็จแล้วก็จะเป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ตำรวจก็หมดหน้าที่ไป 

 

ทั้งนี้การพิจารณาคดี ทางอัยการจะต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปพิจารณาคดีด้วย ซึ่งเมื่อได้รับการสอบสวนแล้ว การอายัดตัวก็จะสิ้นสุดลง อาจจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้ เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งก็จะกลายเป็นคดีใหม่