ข่าว

‘ทวี สอดส่อง’ ดันยกเลิก พ.ร.บ.เช็ค-หนุนกักขังที่บ้าน

‘ทวี สอดส่อง’ ดันยกเลิก พ.ร.บ.เช็ค-หนุนกักขังที่บ้าน

10 ก.พ. 2567

‘ทวี สอดส่อง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดัน ยกเลิก พ.ร.บ.เช็ค - เดินหน้า กฎกระทรวง house arrest กักขังที่บ้าน

10 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ ผ่าน รายการ 3 บก. เนชั่นทีวี22 หลายประเด็น ตั้งแต่นโยบายของกระทรวงยุติธรรม ในการยกระดับความยุติธรรมสู่สากล รวมถึงประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับการรักษาที่โรงพยาบาลและการพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร ว่า นโยบายกระทรวงยุติธรรม ต้องการยกระดับความยุติธรรมให้เป็นสากล เป็นสิ่งที่สำคัญ การรวมตัวเป็นประเทศชาติ เป้าหมายคือความยุติธรรม ถ้าประเทศไหน สังคมรู้สึกไม่เป็นธรรม จะแตกสามัคคีกัน

 

รัฐบาลนายกฯเศรษฐา  ใช้คำว่า ยกระดับหลักนิติธรรมให้เป็นสากล คือ กฎหมายที่เกิดขึ้นโดยประชาชนมีส่วนร่วม เป้าประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เพื่อความเป็นธรรม กฎหมายต้องใหญ่กว่าคน และที่สำคัญคือ ในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายใหญ่ต้องเป็นสมบัติของทุกคน ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ใช้ภาษาคลุมเครือ ไม่ใช่ตีความกฎหมายไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง
 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมรายการ 3 บก. ทางเนชั่นทีวี

 

 

การใช้ดุลพินิจต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ใช้ ดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย หน้าที่ของตุลาการควรพิจารณากฎหมายว่าเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย แต่ถ้าดูลึกถึงเจตนารมณ์โดยหลักการที่ดีต้องเป็นรัฐสภา แต่วันนี้เราดีไซน์ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

 

การยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้เป็นสากล มี 3 หลัก คือ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ภายใต้ 3 หลัก ต้องทำหน้าที่ 3 อย่าง  1.แก้ปัญหาอาชญากรรม อาทิ ยาเสพติด ฮั้ว ทุจริต  2.พัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ต้องทำให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน มีคำกล่าวว่า อาชญากรไม่ใช่หมายความถึงอาชญากรรม แต่ให้หมายความถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย ต้องไม่ออกให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 

 

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ดันยกเลิก พ.ร.บ.เช็ค-หนุนกักขังที่บ้าน

 

 

หลังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและต้องปฏิรูป อาทิ เลิกคดีอาญาใน พ.ร.บ.เช็ค เพราะที่ผ่านมาเราให้เป็นเรื่องแพ่ง ส่วนใหญ่พบว่าเจ้าหนี้นอกระบบให้เซ็นเช็ค เวลาเซ็นเช็ค 1 หมื่นบาทก็จับไปเรือนจำ ทั้งที่สามารถใช้ข้อหาฉ้อโกงได้ 

 

รวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล สิทธิเสรีภาพต้องได้รับความคุ้มครอง เรามีผู้ก้าวพลาด ต้องไปอยู่ในเรือนจำ หรือคุมประพฤติ พอออกมาถูกสังคมตราหน้าเป็นคนคุก ตลอดจนความเชื่อที่แตกต่างเรื่องชาติพันธุ์ การแต่งกาย ทั้งๆที่ต้องดูที่สมอง ความคิด การปฏิบัติ 

 

กรณีผู้ต้องหาล้นคุก การแก้ปัญหา เราเอาหลักการ มีข้อหนึ่งคือ วัดกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คะแนนเต็ม 1 ประเทศไทยได้ 0.49 มีอยู่ตัวหนึ่ง ราชทัณฑ์ ได้ 0.25 จัดว่าเป็นตัวถ่วง ดัชนีมีทั้งหมด 44 ข้อ มี 8 ตัวชี้วัด ความโปร่งใส ปราศจากคอรัปชั่น เราตกทุกข้อ 

 

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ดันยกเลิก พ.ร.บ.เช็ค-หนุนกักขังที่บ้าน

 

 

ดังนั้นเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องบริหารตามกฎหมายและนโยบายที่แถลงต่อสภา นายกรัฐมนตรีแถลงหลักนิติธรรม ให้เป็นมาตรฐานสากล วางรากฐานหลักนิติธรรม คือคนเท่ากัน 

 

ในเรื่องของนักโทษล้นเรือนจำรัฐธรรมนูญเขียนว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด จะปฏิบัติแบบนักโทษไม่ได้ เราพบว่ามีคนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ยังไม่ตัดสิน อยู่ในเรือนจำ 146 แห่ง ทั่วประเทศ ประมาณ 5 หมื่นคน ตรงนี้กระทรวงยุติธรรมพบว่า ป.วิอาญา เราออกมานานแล้ว ใน มาตรา 89/1 ให้รัฐมนตรีออกกฎกระทรวง เรื่องที่ศาลจะให้ไปอยู่ house arrest  หรือ การควบคุมตัวที่บ้าน  โดยกลุ่มนี้เกือบครึ่งหนึ่ง หลังพิจารณาคดีแล้วศาลยกฟ้อง ตรงนี้ถ้าเราทำกฎกระทรวงที่สมบูรณ์ โดยรับฟังความเห็น จะให้ประกันหรือไม่ ก็ใช้กฎกระทรวงนี้ ให้อยู่บ้าน เลี้ยงลูกได้ โดยกฎกระทรวงอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็น อย่างน้อยศาลจะได้มีดุลยพินิจ คล้ายๆ กักขังนอกเรือนจำ กักขังที่บ้านก็ได้ หรืออาจใส่กำไล EM ระหว่างการพิจารณาก็ได้ 

 

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมรายการ 3 บก. ทาง เนชั่นทีวี 22

 

 

เมื่อถามถึงประเด็น ชั้น 14 เข้าระบบสากลไหม หลายคนมองว่าใช้กฎหมายเพื่อคนๆหนึ่งหรือเปล่า
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การปฏิบัติต้องมีกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้น เกิดก่อนรัฐบาลนี้เข้ามา ไปอยู่ที่ รพ. พอครบ 120 วัน ต้องให้รัฐมนตรีดู ผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยต้องรักษานอก รพ. มีปีละ 5 หมื่นคน กรณีดังกล่าวเราให้ความสำคัญกับแพทย์และรพ. พิจารณาให้กลับหรือไม่ รพ.ต้องส่งกลับ ไม่ใช่เราไปรับกลับ 

 

เวลารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเราจะเขียนให้อยู่ห้องรวม แต่ให้อำนาจพิเศษดรงพยาบาลในการจัดที่ควบคุมพิเศษอื่น เป็นดุลพินิจ ถ้าเป็น รพ.ตำรวจ โดยคุณทักษิณอยู่ในข่ายตามกฎกระทรวงที่ควบคุมพิเศษที่โรงพยาบาลจัดให้ ไม่ใช่หมอจัด ส่วนราชทัณฑ์จัดคนเข้าไปกำกับควบคุมดูแล 

 

เมื่อถามว่า คนทั้งประเทศอยากรู้ว่าหลังวันที่ 18 ก.พ. 2567 ครบ 6 เดือนแล้ว คุณทักษิณ จะได้รับการพักโทษไหม  พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กฎหมายราชทัณฑ์มีเรื่องการพักโทษ มีเกณฑ์ที่ออกเป็นกฎกระทรวง ตอนนี้เรื่องยังมาไม่ถึงผม แต่ต้องเสนอ บางเคสรัฐมนตรีต้องพิจารณาด้วย รัฐมนตรีต้องไม่ใช่ไปรษณีย์ เราต้องดูรายละเอียด กฎหมายไม่ได้ใช้เฉพาะคนใดคนหนึ่ง ถ้าเลือกปฏิบัติก็ไม่เป็นธรรม อยู่ที่กรรมการด้วย เรื่องการเจ็บป่วย ต้องฟัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ อัยการ ศาล ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมฯ  ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ปปส. 

 

“เรื่องนี้ อีกไม่กี่วันก็คงจะรู้ เวลาส่งเรื่องมาขออนุมัติพักโทษ มีครั้งละหลายร้อยคน ส่วนการจำกัดอาณาเขตของนักโทษที่ได้รับการพักโทษ อาทิ ถ้าจะเดินทางไปต่างจังหวัดต้องขออนุญาต แต่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้”  

 

อย่างไรก็ดี รมว.ยุติธรรม บอกว่า การพักโทษในคดีเดิม ไม่เกี่ยวกับคดีที่อัยการสูงสุดเพิ่งแถลงเรื่องการดำเนินคดีตามมาตรา112 เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง อัยการอาจสั่งไม่ฟ้อง สั่งฟ้อง สั่งสอบสวนเพิ่มเติม โดยดุลพินิจการให้ประกันตัวในคดีดังกล่าว อัยการอาจพิจารณาเอง หรือส่งให้ศาลพิจารณา มันเกินขั้นตำรวจไปแล้ว และเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร อัยการเป็นผู้สอบสวน