ข่าว

3 ข้อพิสูจน์ ‘ครอบครองปรปักษ์’ เมื่อบ้านฉัน กำลังจะกลายเป็นของคนอื่น

3 ข้อพิสูจน์ ‘ครอบครองปรปักษ์’ เมื่อบ้านฉัน กำลังจะกลายเป็นของคนอื่น

14 ก.พ. 2567

ย้อนไทม์ไลน์ ‘ครอบครองปรปักษ์’ กับ 3 ข้อพิสูจน์ ยืนยันสิทธิการเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อบ้านฉัน กำลังจะเป็นของคนอื่น

แบบนี้ก็ได้เหรอ ไม่เคยได้ยินเหมือนกันนะ เรื่องการ ครอบครองปรปักษ์ บ้านพร้อมที่ดิน ของคนอื่น เคยได้ยินแต่ ครอบครองปรปักษ์ ที่ดินรกร้าง โดยที่เจ้าของไม่เคยมาแสดงตัว  

 

แต่กรณีพิพาทที่กำลังเป็นกระแสที่สังคมให้ความสนใจ เพื่อนบ้าน เข้ามา ครอบครองปรปักษ์ บ้านของ อากู๋เหมทัศน์ ที่มีรั้วรอบขอบชิด ในซอยรามอินทรา 58 แยก 6-2 ทำได้หรือๆไม่ ?

 

ย้อน ไทม์ไลน์ ประวัติการซื้อ บ้าน

  • ปี 2534 อากู๋เหมทัศน์ ซื้อบ้านเอาไว้ ต่อมายกให้คุณซันและคุณอาย มีศักดิ์เป็นหลาน เป็นของขวัญวันแต่งงาน
  • วันที่ 31 ส.ค.2566 คุณซันและคุณอาย เข้าไปดูบ้าน ปรากฏว่า ถูก เพื่อนบ้าน ยึด มีการรีโนเวท อยู่อาศัย และใช้เป็นที่เก็บของ ในวันนั้น เพื่อนบ้าน อ้างว่า อยากซื้อบ้านหลังนี้มานานมากแล้ว แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของบ้าน โดย เพื่อนบ้าน เสนอทางเลือกให้เจ้าของบ้าน ว่า 1. ถ้าจะขอบ้านคืน ยินดีย้ายของออกให้  2. จะให้เช่าบ้านหลังนี้ไหม ถ้าให้เช่า ก็ยินดี 3. จะขายบ้านหลังนี้ไหม ราคาเท่าไหร่ พร้อมขอซื้อ แต่ขอเป็นราคาที่เหมาะสม

เพื่อนบ้าน ที่เข้ามาครอบครองบ้านอากู๋เหมทัศน์ ขึ้นป้ายไวนิล ร้านขายไก่ตะเกียบทอดน้ำปลา

  • วันที่ 1 ก.ย.2566 คุณอายและคุณซัน ขอคำปรึกษากับ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ และ แจ้งความ เพื่อนบ้าน ไว้ที่สน.โคกคราม 3 ข้อหา บุกรุก ลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์
  • วันที่ 17 ก.ย.2566 เพื่อนบ้าน ย้ายออกไป เจ้าของบ้านนำกุญแจมาล็อก
  • เดือน ต.ค. 2566 มีการนัดเจรจา 2 ฝ่าย แต่ตกลงกันไม่ได้
  • วันที่ 28 พ.ย. 2566 เพื่อนบ้าน ยื่นฟ้องแพ่งที่ศาลแพ่งมีนบุรี โดยแสดงกรรมสิทธิ์ ครอบครองปรปักษ์
  • วันที่ 6 ม.ค. 2567 หมายศาลส่งมาที่บ้าน คุณซันและคุณอาย
  • วันที่ 29 ม.ค.2567 คุณซันและคุณอาย ยื่นคัดค้านคดีแพ่ง
  • วันที่ 8 ก.พ.2567 คุณซันและคุณอาย แวะมาดูที่บ้าน พบ มีการ ยึดบ้าน รอบ 2 มีการ นำป้ายมาติดหน้าบ้าน เปิดเป็นร้านขายไก่ตะเกียบทอดน้ำปลา ในบ้านมีเครื่องครัว โต๊ะเก้าอี้ รวมทั้งมีป้ายมาติดหน้าบ้าน ระบุข้อความ ว่า “บ้านหลังนี้ข้าพเจ้าได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย บุคคลใดเข้ามากระทำการใดๆในบ้านและที่ดิน และบ้านหลังนี้ ถือว่ามีความผิดฐานบุกรุก จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ลงชื่อนางสาวศรีพรรณ ..” โดยการยึดบ้านรอบ 2 ส่งผลให้ คุณอายและคุณซัน เข้าแจ้งความที่ สน.โคกคราม อีกครั้ง
  • วันที่ 10 ก.พ.2567 นายวัฒนา เรืองแก้ว ทนายความของ คุณศรีพรรณ เพื่อนบ้าน ยืนยันว่า ลูกความ เข้ามาครอบครองเกิน 10 ปี ขณะนั้นได้ยื่น ครอบครองปรปักษ์ อยู่ แต่พอเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วมีการออกข่าวใหญ่โตช่วงเเรกเกิดความกดดันจึงต้องย้ายออกไปก่อน ไม่ได้ยอมความหรือยิมยอมจะย้ายออก รวมทั้งเคยไกล่เกลี่ยซื้อขายบ้าน ทางคู่กรณีจะขาย 5 ล้านบาท แต่ฝ่ายเพื่อนบ้านสู้ราคาแค่ 2 ล้านบาท
  • วันที่ 13 ก.พ.2567 คุณซันและคุณอาย พร้อมทีมทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.โคกคราม เพื่อลงบันทึกประจำวัน และขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตัดกุญแจ เพื่อเข้าบ้านหลังดังกล่าว ขณะที่คุณซัน ขนเสื้อผ้ามานอนในบ้านด้วย โดยไม่มี เพื่อนบ้าน มาแสดงตัว 

มีการปลดป้ายไวนิลไก่ตะเกียบทอดน้ำปลาออก และนำป้ายใหม่มาติดแทน ข้อความว่า “พื้นที่ส่วนบุคคลห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต หรือเข้ามากระทำการใดๆทั้งสิ้น หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย”

 

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้ความเห็นในข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ครอบครองปรปักษ์ ว่า ที่ผ่านมาเคยได้ยินกรณี ครอบครองปรปักษ์ ที่ดิน แต่กรณีนี้เป็น ครอบครองปกปักษ์ บ้านและที่ดิน เพิ่งเคยได้ยินครั้งแรกเหมือนกัน

 

“เจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ต้องการไม่ให้ทิ้งร้างที่ดิน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ อย่างกรณีนี้คือไม่ให้ทิ้งบ้านไว้นานๆ ไม่มีคนอาศัยอยู่ บ้านรก ปิดทึบ จะทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ในแง่หนึ่งกฎหมายต้องการให้เจ้าของต้องเข้ามาดูแลบ้าง 1-2 ปีมาดูแลสักครั้ง มีการบุกรุกไหม และต้องเสียภาษี

 

“กรณีนี้แม้จะเป็นบ้าน ถ้าปล่อยทิ้งร้าง 10 ปี ต้องมาดูว่า เข้าหลัก 3 ข้อหรือไม่ คือ 1.ครอบครองโดยสงบ 2.ครอบครองโดยเปิดเผย และ 3. เจตนาครอบครองเป็นเจ้าของ รวมทั้งต้องดูช่วงเวลาต่างๆ อาทิ

  • อากู๋เหมทัศน์ ยกให้เป็นของขวัญแต่งงานเมื่อไหร่
  • เพื่อนบ้านเข้าครอบครองตั้งแต่เมื่อไหร่
  • มีการตกลงซื้อขายบ้านหลังดังกล่าวกันจริงหรือไม่ เพราะกรณีที่เจตนา ครอบครองปรปักษ์ จะต้องไม่มีการตกลงซื้อขาย” อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้ความเห็น

 

ซึ่ง วัน เวลา และข้อเท็จจริงทั้งหมด ต้องนำเสนอให้ศาลเห็น เพื่อมีคำตัดสินต่อไป