ข่าว

กะเทาะ 'ข้อกฎหมาย' Craft Soda 'น้ำกระท่อม' โทษเบา ผิดแค่ 'พ.ร.บ.อาหาร'

กะเทาะ 'ข้อกฎหมาย' Craft Soda 'น้ำกระท่อม' โทษเบา ผิดแค่ 'พ.ร.บ.อาหาร'

15 ก.พ. 2567

กะเทาะ 'ข้อกฎหมาย' Craft Soda 'น้ำกระท่อม' โทษเบาหวิว ผิดแค่ 'พ.ร.บ.อาหาร' หลัง 'ปลดล็อก' ออกจากบัญชี 'ยาเสพติด'

ปฏิบัติการบุกทลาย 2 โรงงานใหญ่ ผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ น้ำกระท่อม บิ๊กล็อต ในเวลาไล่เลี่ยกัน ของกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดเป็นสัญญาณเตือนภัยผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายให้ต้องตื่นตัวอีกครั้ง หลังปลดล็อก พืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

 

วันที่ 13 ก.พ.57 กก.ดส. บุกจับกุมโรงงานผลิต Craft Soda น้ำกระท่อม และ กัญชา ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตรวจยึด Craft Soda น้ำกระท่อม อัดแก๊สหลายรสชาติ หลายยี่ห้อ นอกจากมีส่วนผสมของ น้ำกระท่อม แล้ว ยังมีส่วนผสมของของ ยาแก้แพ้ รวม  30,000 ขวด และอุปกรณ์การผลิต จำนวนมาก อาทิ ถังผสม หม้อต้ม เครื่องปิดฝาขวด ฯลฯ พร้อมจับกุม นายสุทธิชัยฯ อายุ 39 ปี ผู้จัดการ และ นายโกเมน อายุ 46 ปี ผู้ดูแลการผลิต

 

การจับกุมครั้งนี้ กก.ดส. ขยายผลจับกุม จากการประกาศขาย น้ำกระท่อม กลิ่นพีชแบรนด์หนึ่ง ผ่านทางโซเชียลมีเดีย  โดยแบรนด์ดังกล่าวมีประมาณ 20 สาขา หลายท้องที่ในกรุงเทพฯ ที่ฉลากมีสัญลักษณ์ อย. ติดไว้ชัดเจน แต่ไม่ได้ระบุว่ามีส่วนผสมของ น้ำกระท่อม จึงสั่งมาเพื่อส่งตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าพบ สารไมทราไจนีน เป็นสารใน พืชกระท่อม จึงเท่ากับเป็นการลักลอบจำหน่าย

 

โดยพบว่า โรงงานดังกล่าวขอจดทะเบียน อย. ถูกต้อง แต่ไม่ผลิตตามสูตรที่ขอจดทะเบียน

สภาพภายในโรงงานผลิตน้ำกระท่อม

เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ตาม ..บ.อาหาร พ.ศ.2522 ใน 4 ข้อหา ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง , ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม ที่มีฉลากเพื่อลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด , ร่วมกันผลิตอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ  และร่วมกันผลิตและจำหน่ายอาหารที่มีพืชกระท่อมเป็นส่วนผสม

 

ต่อมา วันที่ 14 ก.พ.57 กก.ดส. บุกทลายโรงงานผลิต น้ำกระท่อม ขนาดใหญ่ ย่านหัวหมาก 13 จับกุม นายเมือง ตัน อายุ 26 ปี และชายไม่ทราบชื่อ อายุ 22 ปี ชาวเมียนมา คนงาน ตรวจยึด กระท่อม แบบต้มบรรจุใส่ขวด 543 ขวด ใบกระท่อม 305 กิโลกรัม ขวดเปล่าพร้อมฝา 32,616 ขวด และอุปกรณ์การต้มจำนวนมาก  

 

โรงงานแห่งนี้ แบ่งพื้นที่เป็น พื้นที่ต้มบรรจุขวด จัดเตรียมวัตถุดิบ และเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ อย่างเป็นสัดส่วน โดยแต่ละวันมีจำนวนการผลิต 1,000 ขวด ส่งร้านค้าปลีกละแวกหัวหมากและรามคำแหง

 

เจ้าหน้าที่จึงดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ร่วมกันผลิตและจำหน่ายอาหารที่มี พืชกระท่อม เป็นส่วนผสม อัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท และข้อหาไม่มีใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร และเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะ 2 ผู้ต้องหาเป็นต่างด้าว

 

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าโรงงานทั้ง 2 แห่ง สกปรก ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค และก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้

 

จะเห็นได้ว่า จากปฏิบัติการบุกทลายโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ น้ำกระท่อม ในปัจจุบันไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ยาเสพติดแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเอาผิดได้เพียง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีอัตราโทษน้อย ทำให้เข้าทางนายทุนหัวใส หันมาลงทุนทำโรงงานเถื่อนผลิตเครื่องดื่มจาก น้ำกระท่อม มากขึ้น หลังมีการ ปลดล็อก พืชกระท่อม ออกจาก บัญชียาเสพติด ให้โทษประเภท 5 ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส.

ทำความเข้าใจความผิดเกี่ยวกับ น้ำกระท่อม ในปัจจุบัน

  • ปลูก ซื้อ ขาย ต้นกระท่อมได้ ไม่ผิดกฎหมาย
  • ขายใบสด ลำต้น เมล็ด ฯลฯ ทำได้หมด ไม่ผิดกฎหมาย
  • ต้ม น้ำกระท่อม ดื่มเอง หรือแจกจ่ายกัน โดยไม่ได้ขาย ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย

 

แต่ต้ม น้ำกระท่อม ขาย มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีไม่ให้นำ พืชกระท่อม ไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่าย อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้าม ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้อาหารที่ปรุงจาก พืชกระท่อม เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย หากฝ่าฝืน มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 20,000 บาท

 

พ.ต.อ.ศานติ กรเกษม ผู้กำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (ผกก.ดส.) กล่าวว่า จากข้อห่วงใยของทางรัฐบาลที่พบว่า เด็กและเยาวชนเข้าถึง น้ำกระท่อม ได้ง่ายขึ้น จะนำไปสู่การนำ น้ำกระท่อม ไปผสมยาอื่น ๆ เพื่อเป็นสารเสพติด ทาง บช.น. จึงสั่งการให้ กก.ดส. สืบสวนสอบสวนขยายผลเกี่ยวกับโรงงานผลิต น้ำกระท่อม ในกรุงเทพฯ

 

นอกจากโรงงานแห่งนี้แล้ว ยังพบว่ายังมีโรงงานลักษณะนี้อีกหลายพื้นที่ ที่ลักลอบผลิตและจำหน่ายให้แก่ร้านค้ารายย่อยในพื้นที่นั้น ๆ จะต้องกวาดล้างจับกุมต่อไป ขยายผลถึงบรรดาพ่อค้ารายย่อยที่ขาย น้ำกระท่อม ริมถนนด้วย

 

“ส่วนข้อกฎหมายในการเอาผิด ตอนนี้ใช้เพียง พ.ร.บ.อาหาร เท่านั้น ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องของ ใบกระท่อม มาควบคุม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งข้อห่วงใยไปยังรัฐบาล เพื่อดำเนินการทบทวนหรือออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาควบคุม เรื่องการลักลอบผลิต น้ำกระท่อม แล้ว อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงและนำไปใช้เป็นสารเสพติด”ผกก.ดส.กล่าว

 

ขณะที่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กำกับดูแลภาพรวมการแก้ปัญหายาเสพติดระดับประเทศ กล่าวว่า หลังจากมีการ ปลดล็อกพืชกระท่อม ออกจาก บัญชียาเสพติด ทำให้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

 

“อย่างไรก็ดี ป.ป.ส. สอดส่องดูแลปัญหาตลอดเวลา มีการสำรวจพบว่า มีแหล่งปลูก กระท่อม ทั่วประเทศจำนวน 875 แห่ง และด้วยความห่วงใยปัญหาดังกล่าว ในการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) เมื่อปลายเดือน ม.ค.67 ที่ผ่านมา จึงได้ส่งข้อมูลแหล่งปลูก กระท่อม ทั้ง 875 แห่ง ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกวดขันปราบปรามจับกุมด้วย”เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าว

 

ดังนั้น แม้ว่า กระท่อม และ น้ำกระท่อม จะถูก ปลดล็อก ออกจากบัญชี ยาเสพติด แต่ยังคงมีฤทธิ์ร้ายแรงในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น การวางมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง