เปิดขั้นตอน ‘การปล่อยตัว’ ‘ทักษิณ’ หลังได้รับการ ‘พักโทษ’
เปิดขั้นตอน ‘การปล่อยตัว’ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ออกจาก ‘โรงพยาบาลตำรวจ 'หลังได้รับการ ‘พักโทษ’ จะครบกำหนด 18 ก.พ. 67 นี้
หลังจาก คณะกรรมการพิจารณาการพักโทษ ได้อนุมัติการ พักโทษ นักโทษจำนวน 930 คน เสนอ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อนุมัติการ พักโทษ แล้ว โดยในจำนวนนี้มี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยร้ายแรง และมีอายุ 70 ปีขึ้นไป โดยการ พักโทษ นายทักษิณ เป็นไปตามเกณฑ์เพราะต้องโทษมาแล้ว 1 ใน 3 คือ 6 เดือน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 ก.พ.67 นี้
สำหรับ ขั้นตอนการปล่อยตัว นายทักษิณ ออกจาก โรงพยาบาลตำรวจ มีดังนี้
- รายชื่อผู้ได้ พักโทษ ส่งถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
- เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ประสานมายัง กรมคุมประพฤติ เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติในการ ปล่อยตัว นายทักษิณ ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ว่าต้องการไปรักษาต่อที่ไหน
- เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ที่ โรงพยาบาลตำรวจ จะดำเนินการ ปล่อยตัว นายทักษิณ ซึ่งอยู่ในสถานะผู้ป่วย โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ญาติมารับด้านหน้า โรงพยาบาลตำรวจ หรือจุดนัดหมาย นำตัวไปรักษาอาการป่วยต่อ ณ สถานที่ที่เตรียมเอาไว้ หรือโรงพยาบาล
- ในเงื่อนไข การคุมประพฤติ นายทักษิณ ไม่ต้องใส่กำไล EM แต่ต้องอยู่ในพื้นที่อาณาบริเวณที่กำหนด และไม่ทำผิดเงื่อนไข การคุมประพฤติ
ขณะที่ พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่า ในเรื่อง การปล่อยตัว ขึ้นอยู่กับ กรมราชทัณฑ์ หากแจ้งมาว่าจะขอรับตัวออก ทางโรงพยาบาลตำรวจมีหน้าที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมแนบความเห็นแพทย์ถึงอาการของผู้ป่วย ว่าควรรักษาตัวต่อหรือไม่ ถือว่าหมดหน้าที่ของ โรงพยาบาลตำรวจ แล้ว
กรณี นายทักษิณ ญาติไม่สามารถเข้ามารับตัวที่ห้องผู้ป่วยได้ แม้มีคำสั่ง พักโทษ แล้วก็ตาม ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มารับไปเท่านั้น ส่วนรับออกไปแล้วจะส่งมอบให้ญาติ หรือมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์
ส่วนระยะเวลาการขอรับตัว ที่ผ่านมาไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องแจ้งโรงพยาบาลก่อนกี่วัน เพราะจะมี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง สามารถประสานโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา หมายถึงเที่ยงคืน 1 นาที ของวันที่มีการ พักโทษ สามารถแจ้งขอออกจากโรงพยาบาลได้