ติวเข้มอัยการเพิ่มศักยภาพ พ.ร.บ.อุ้มหาย หยุดย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์
อัยการจัดติวเข้มเพิ่มศักยภาพ พ.ร.บ.อุ้มหาย หยุดย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ หากพบยื่นศาลสั่งหยุดการกระทำ พบ 1 ปีที่ผ่านมา รับสำนวนแล้ว 2.5 เรื่อง
เมื่อวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ นางจิตติวรรณ เอมมณีรัตน์ อธิบดีอัยการภาค 5 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ให้กับพนักงานอัยการและข้าราชการธุรการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 5 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยมีนายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ (สพอ.) , ดร.สนธยา เครือเวทย์ รองอธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ , นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูง , ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง เลขานุการรองอัยการสูงสุด และนายทีปกร โกมลพันธ์พร อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีนายสมพงษ์ เย็นแก้ว อธิบดีอัยการภาค 6 เดินทางมาร่วมรับฟังด้วย
นายโกวิท กล่าวว่า สำหรับการฝึกอบรมการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานอัยการตามนโยบายของนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ซึ่งมอบหมายให้สถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูงเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดฝึกอบรมให้กับพนักงานอัยการทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับคดีความที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่พนักงานอัยการมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว หากพบว่ามีบุคคลใดถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำเช่นว่านั้นได้
ในส่วนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีการแก้ไขในปี 2566 นั้น ได้มีการประกาศใช้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งวันนี้ถือได้ว่าเป็นวันครบรอบ 1 ปี แห่งการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย โดยนายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูง ให้ข้อสังเกตว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดมีการจัดตั้งศูนย์ฯ รับแจ้งการควบคุมทั่วประเทศกว่า 113 ศูนย์ และได้รับสำนวนคดีที่บังคับใช้ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 250,000 เรื่อง