ถอดบทเรียน ‘ครอบครองปรปักษ์’ ว่าด้วยเรื่องของ ‘ทนาย’ และทางออก
ถอดบทเรียนแลกด้วยชีวิตคดี ‘ครอบครองปรปักษ์’ ว่าด้วยเรื่องการจ้าง ‘ทนาย’ และทางออกของ ‘ลูกความ’ เมื่อพบว่าไม่เป็นไปตามความต้องการ
การตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ของ น.ส.ภานุมาศ 1 ใน 5 ผู้ถูกดำเนินคดีฐาน บุกรุก ที่เกี่ยวโยงกับคดี ครอบครองปรปักษ์ บ้านอากู๋เหมทัศน์ กลายเป็นประเด็นสะเทือนใจ และเขย่าสังคมในหลายมิติ
แทนที่ อากู๋เหมทัศน์ และซัน หลานอากู๋เหมทัศน์ เจ้าของบ้านตัวจริง จะเกิดอาการเครียดเกรงว่าจะไม่ได้ บ้าน คืน แต่แล้วก็เกิดเหตุ 1 ใน 5 เพื่อนบ้าน ฝ่ายร้องขอ ครอบครองปรปักษ์ ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐาน บุกรุก ถึงกับตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2567
ในวันเดียวกัน ปรากฏข่าวว่า ทนาย ฝ่าย เพื่อนบ้าน ระบุว่า “ผู้เสียชีวิต เคยบ่นกับคนรอบตัว และมาปรึกษาว่ามีความเครียดจากคดีที่เกิดขึ้น ประกอบกับมีโรคประจำตัวร้ายแรง โดยสาเหตุของการเครียดในครั้งนี้เนื่องจากทางเจ้าของบ้านตัวจริงมีการใช้สื่อนำเรื่องดังกล่าว และใช้ สื่อกดดัน แทนที่จะใช้การเจรจาหรือใช้ข้อกฎหมาย"”
ขณะเดียวกัน ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ซัน หลานอากู๋เหมทัศน์ และตำรวจ สน.โคกคราม เจ้าของคดี บุกรุกบ้าน ระบุว่า คู่กรณีที่มีข้อพิพาทกันทั้ง 2 ฝ่าย มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเป็นระยะๆ เพื่อยุติคดี
ทำไมคู่กรณีเจรจาไกล่เกลี่ยประสงค์จะยุติคดี เรื่องน่าจะจบในเวลาไม่นาน แต่หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีฐาน บุกรุก กรณี ครอบครองปรปักษ์ กลับถึงเครียดและตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง เป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม
แต่แล้วก็ปรากฏ คลิปเสียง สนทนาระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายที่ถูกเรียกว่า อากู๋ ในการ เจรจาไกล่เกลี่ยคดี บุกรุกครอบครองปรปักษ์
โดยคำพูดของผู้หญิงบางประโยค ชวนให้คิด “กู๋คะ ตอนนี้เราคุยกับ ทนาย แล้วค่ะ เราจะยกเลิก ปรปักษ์ เราจะไม่ทำแล้วค่ะ..เมื่อวานหนูก็เรียกคุยกับทนายที่ออฟฟิศ แล้วหนูก็ กราบเท้า เขาเลยค่ะ..ด้วยความที่ทุกคนก็จะมาแนะนำแล้วว่า ทำแบบนี้สิ โดนคดีความไปแล้ว 13 ปีแล้ว เราต้องทำแบบนี้เราถึงจะชนะ คือเรายอมรับเลยว่า ทุกอย่างเราไม่เป็นตัวของตัวเองเลย แล้วเมื่อวานหนูก็ได้คุยกับ ทนาย อะค่ะ กราบเท้า เขาเลยค่ะว่าไม่อยากทำแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เจตนาของหนูตั้งแต่แรก”
สังคมตั้งคำถามทันทีว่า ทำไมฝ่ายหญิงที่หลายคนตั้งข้อสังเกตคือผู้เสียชีวิต ถึงขั้นพูดว่าต้อง กราบเท้าทนาย เกิดอะไรขึ้น ? แม้ว่าต่อมาญาติของผู้เสียชีวิต จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีการ กราบเท้า ตามที่พูดในคลิปเสียง
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านทั่วไป ไม่มีทางรู้ข้อกฎหมายถ้าไม่ได้เรียนมา เมื่อมีคดีความจึงต้องพึ่งพาทนายความ และเป็นธรรมดาที่ ทนายความ ว่ายังไง ก็ทำตามนั้น
แล้วเมื่อ ลูกความ รู้สึกว่า ทนายความ ไม่ทำตามความประสงค์ของตัวเอง ต้องทำยังไง ?
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้ความรู้ถึงสิ่งที่ลูกความสามารถทำได้ ดังนี้
- เลิกจ้าง ทนายความ
- ถอน ทนายความ คนเดิม และเปลี่ยน ทนายความ ใหม่
- ร้อง สภาทนายความ เรื่องมารยาท ทนายความ
- ถ้า ลูกความ ไม่มีเงินจ้าง ทนายความ แนะนำให้ไปปรึกษากับ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายประชาชน ที่มีอยู่ 120 แห่งทั่วประเทศ ได้
“ทุกอย่างมีทางออก สามารถมาปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายได้” นายโกศลวัฒน์กล่าว