ข่าว

ย้อนคดีมหากาพย์ 'บอส อยู่วิทยา' ภาค 1 สู่ฟ้องอาญา อดีต ผบ.ตร.-อดีต รอง อสส.

ย้อนคดีมหากาพย์ 'บอส อยู่วิทยา' ภาค 1 สู่ฟ้องอาญา อดีต ผบ.ตร.-อดีต รอง อสส.

28 ก.พ. 2567

ย้อนคดีมหากาพย์ 12 ปี 'บอส อยู่วิทยา' ขับรถหรูชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต หลุดเกือบทุกคดี สู่ ภาคต่อ อสส.ส่งฟ้อง ตามมติ ป.ป.ช. ดำเนินดคีอาญา อดีต ผบ.ตร. และ อดีต รอง อสส.

กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง สำหรับคดีของนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา หลังจากที่อัยการสูงสุด (อสส.) แถลงความคืบหน้าของคดีหลังที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  มีหนังสือถึง อสส.แจ้งมติ ให้ดำเนินคดีอาญา ฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหา 8 ราย ประกอบด้วย 

1. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง  

2. พล.ต.ต. ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข 

3.พ.ต.อ. วิรดล ทับทิมดี 

4.นายเนตร นาคสุข 

5.นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม 

6.นายธนิต บัวเขียว 

7.นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร

8. รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม 

 

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ๆ ได้แก่ 

- พล.ต.ท. มนู เมฆหมอก ,พ.ต.อ.วิวัฒน์ สิทธิสรเดช ป.ป.ช. มีมติกันไว้เป็นพยาน

 

- พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง หรือคทาธร พัชรนามเมือง, พล.อ.ท. จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และ พล.อ.ท. สุรเชษฐ ทองสลวย ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ. อาญา และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 63 

 

- พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ  ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64

 
- นายธานี อ่อนละเอียด,  พ.ต.ท.ทรงวุฒิ เจริญวิชยเดช , นายวรพล โสคติยานุรักษ์ , นายอุสาห์ ชูสินธ์ และ น.ส.ณัฎณิชา ทองชื่น ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิด

จุดเริ่มต้นของคดีมหากาพย์ ผ่านระยะเวลา ยาวนานเกือบ 12 ปี  


เช้ามืดของวันที่ 3 ก.ย. 2555 เกิดอุบัติเหตุ รถยนต์หรู พุ่งชน ร่างของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ ก่อนที่คนขับจะขับรถหลบหนีเข้าไปในซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งต่อมาทราบว่ารถที่ชนตำรวจคนขับคือ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา  ส่วนรถคันที่เกิดเหตุ คือ รถเฟอร์รารี   

 

 

รถคันที่เกิดอุบัติเหตุ ชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

 

 

จากนั้นตำรวจ สน.ทองหล่อ นำตัวพ่อบ้านของบอส อยู่วิทยา  ซึ่งระบุว่าเป็นคนขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ไปสอบปากคำแต่ไม่มีใครเชื่อ รวมถึง  พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในขณะนั้น เดินทางมาถึงที่บ้านของนายวรยุทธ  พร้อมระบุ "หากไม่ได้ตัว จะขอลาออก"

 

ในที่สุด บอส อยู่วิทยา ยอมเข้ามอบตัวที่ สน.ทองหล่อ แต่ให้การภาคเสธ โดยอ้างว่า ผู้เสียชีวิตขี่รถจักรยานยนต์ปาดหน้าทำให้หักหลบไม่ทัน หลังเกิดเหตุและขับรถหลบหนีกลับมาบ้าน เกิดความเครียด จึงไปดื่มแอลกอฮอล์ในภายหลัง ตำรวจจึงนำตัว บอส อยู่วิทยา ไปตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาล และแจ้งข้อกล่าวหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่ตำรวจไม่คัดค้านประกันตัว จึงให้ประกันตัวออกไปในวงเงินประกัน 5 แสนบาท
 

บอส อยู่วิทยา เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมาแล้วขับ และข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หลังผลการตรวจแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และผลการตรวจสอบของ พฐ.ระบุว่า นายวรยุทธขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

 

หลังจากนั้นเกือบ 4 ปี พนักงานสอบสวน สรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา ใน 2 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย 

  

ส่วนข้อหา ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ ข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน หมดอายุความทั้ง 2 ข้อหา 

 

ขณะที่อัยการมีการนัดหมาย บอส อยู่วิทยา เพื่อนำตัวส่งฟ้อง แต่ทนายความของ บอส อยู่วิทยา ยื่นขอเลื่อน ด้วยเหตุผลว่าติดภารกิจที่ต่างประเทศ จนกระทั่งวันที่ 28 เม.ย. 2560 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุมัติหมายจับ บอส อยู่วิทยา  หลังจากเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องพนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้เป็นครั้งที่ 8 โดยอ้างว่าติดภารกิจในต่างประเทศ และมีการเผยแพร่หมายจับ "หมายแดง" ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล 

 

ต่อมา อัยการฯ แจ้งเรื่องมาที่ ผกก.สน.ทองหล่อ ว่าไม่สั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา ทุกข้อกล่าวหา และได้ถอนหมายจับแล้ว จากนั้น ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัย พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 กับนายตำรวจรวม 7 นาย กรณีช่วยเหลือ บอส อยู่วิทยา  ไม่ให้ถูกดำเนินคดี ข้อหาเมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ออกหมายจับ จนเป็นเหตุให้หลบหนีได้

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่อัยการไม่สั่งฟ้อง บอส อยู่วิทยา ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งในส่วนของ อัยการสูงสุด , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมี ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ

 

หลังจากคณะทำงานตรวจสอบ กรณีอัยการไม่สั่งฟ้องบอส อยู่วิทยา พบพยานหลักฐานเพิ่มใน 2 ประเด็น คือ ความเร็วรถและยาเสพติด ที่สามารถดำเนินคดีกับบอส อยู่วิทยา ได้ จึงทำการสอบสวนใหม่ ในประเด็นขับรถโดยประมาท ส่งผลให้  นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่ออัยการสูงสุด 

 

ขณะที่ คณะกรรมการตรวจสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบข้อบกพร่อง อย่างน้อย 4 ประเด็นในสำนวนที่ตำรวจส่งให้อัยการ จึงเตรียมเสนออัยการรื้อคดีใหม่ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจที่เกี่ยวข้องและการใช้ดุลพินิจไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของ พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ในขณะนั้น)  

 

ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติออกหมายจับ บอส อยู่วิทยา ใน 3 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ และเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 โดยมี "อายุความ 15 ปี"

 

นับตั้งแต่วันเกิดเหตุผ่านมาแล้วเกือบ 12 ปี มาถึงวันนี้ มีบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือ บอส อยู่วิทยา ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และส่งให้ อัยการ ดำเนินคดีอาญา แล้ว 8 นาย รวมถึง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีต รองอัยการสูงสุด กับพวก รวมทั้งสิ้น 8 ราย ส่วน บอส อยู่วิทยา ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ