ข่าว

'ปิดจ็อบ' 7 ปี เมื่อ ‘บิ๊กต่อ’ สั่ง 'ยุบชุด PCT' โจทย์ใหญ่ 'ตำรวจไซเบอร์'

'ปิดจ็อบ' 7 ปี เมื่อ ‘บิ๊กต่อ’ สั่ง 'ยุบชุด PCT' โจทย์ใหญ่ 'ตำรวจไซเบอร์'

28 ก.พ. 2567

'ปิดจ็อบ' 7 ปี ปฏิบัติการ 'ชุด PCT' กับผลงานมากมาย รวมถึงคดีใหญ่ ทลายเครือข่าย ‘เว็บพนันออนไลน์มินนี’ จับตาแอคชั่น ‘ตำรวจไซเบอร์’

คำสั่ง ยุบชุดPCT หรือ ชุดปฏิบัติการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือชุด POLICE CYBER TASKFORCE (PCT) ตามนโยบายการ คืนกำลังพล  ของ บิ๊กต่อ - พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)

 

บิ๊กต่อ ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการนำกำลังพลกว่า 4,000 นาย มาช่วยราชการส่วนต่างๆ อีกทั้งตามพระราชบัญญัติตำรวจฉบับใหม่ ห้ามนำกำลังคนมาช่วยราชการทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง เพื่อแก้ปัญหากำลังพลในท้องที่ และตัดปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่หรือแอบอ้างชุดเฉพาะกิจต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปการหาผลประโยชน์ได้”

 

อย่างไรก็ดี บิ๊กต่อ ยังให้คงตัวศูนย์ PCT ไว้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการทำงาน โดยมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ควบคุมดูแล

 

ชัดเจนว่า ทางหนึ่ง บิ๊กต่อ ต้องการคืนอำนาจหน้าที่ให้กับ ตำรวจไซเบอร์ หรือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ที่เป็นกำลังหลัก และเป็นมือเป็นไม้สายตรง สามารถส่งข้อมูลยิงตรงถึง บิ๊กต่อ ได้

หลังจากที่ผ่านมา ชุด PCT และ สอท. มีหน้างานทับซ้อนกันอยู่ โดย ผบ.ตร.ในยุคก่อนๆ มักใช้ชุดปฏิบัติการ PCT ด้วย เนื่องจากล้วนแล้วแต่เป็นตำรวจฝีมือดีและเป็นมือทำงาน เรียกว่างานเร็ว งานละเอียด ได้ดังใจ ตั้งแต่ยุค บิ๊กแป๊ะ – พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา , บิ๊กปั๊ด – พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข , บิ๊กเด่น – พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ มาจนถึงช่วงหนึ่งของ บิ๊กต่อ - พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

 

เปิดที่มา ศูนย์ PCT

ย้อนกลับไป ศูนย์ PCT ตั้งเมื่อปี 2560 ภายใต้การนำของ บิ๊กแป๊ะ - พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการย่อย 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ในครั้งแรกมี พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) เป็น ผอ.ศูนย์ฯ

 

และ มี บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. (ในขณะนั้น) เป็นรอง ผอ.ศูนย์ฯ

 

มีอำนาจหน้าที่ปราบปราม 13 ด้าน 1.การกู้ยืมเงินโดยไม่เป็นธรรม 2.ชาวต่างชาติทำผิดกฎหมาย หรืออยู่เกินกำหนดอนุญาต 3.การพนัน 4.ยาเสพติด/อาวุธปืน 5.ทรัพย์สินทางปัญญา 6.เจ้าหน้าที่รัฐถูกร้องเรียน 7.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 8.สถานบริการ 9.แข่งรถในทางสาธารณะ 10.เร่งรัดกฎหมายจับ/ติดตามการดำเนินคดี 11.รถเถื่อน ป้ายปลอม12.การท่องเที่ยว13.อื่น ๆ (อาชญากรรมทั่วไป)

 

ต่อมาปี 2562 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) เข้ามาทำหน้าที่เป็น ผอ.ศูนย์ฯ ภายหลัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. จึงส่งไม้ให้กับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศูนย์ฯ

และ ผอ.ศูนย์ PCT คนล่าสุด คือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. โดยมี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. เป็นหัวหน้าด้านอำนวยการ และหัวหน้าศูนย์บริหารการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ผบช.กมค.(ในขณะนั้น) ในฐานะหัวหน้าด้านปฏิบัติการ ศปอส.ตร. หรือ ชุด PCT

 

โดยมี 5 ชุดปฏิบัติการ หรือ 5 ชุดPCT

  1. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. PCT ชุดที่ 1
  2. พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จเรตำรวจ (สบ 8) สำนักงานจเรตำรวจ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. PCT ชุดที่ 2
  3. พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. PCT ชุดที่ 3
  4. พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สพฐ.ตร. (ในขณะนั้น) หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. PCT ชุดที่ 4
  5. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. PCT ชุดที่ 5

 

ที่ผ่านมา ชุด PCT มีผลงานต่อเนื่อง อาทิ

  • วันที่ 10 ธ.ค. 2565 PCT ชุดที่ 4  ทลายเว็บไซต์พนันบอลโลกออนไลน์ ในจ.ชลบุรี พบเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท
  • วันที่ 15 มี.ค.2566 PCT ชุดที่ 4 ตรวจค้น เป้าหมายเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 6 จุด สระแก้ว 2 จุด และ นนทบุรี 1 จุด รวบบัญชีม้า เว็บพนันออนไลน์ 6 คน
  • วันที่ 3 พ.ค.2566 PCT ชุดที่ 4 ตรวจค้น เป้าหมายเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ ในจ.อุดรธานี จำนวน 7 จุด ใน อ.เมืองอุดรธานี รวบพนักงานของร้านเน็ต 17 คน ผู้เล่นพนัน 24 คน พร้อมของกลางกว่า 3 ล้านบาท
  • วันที่ 24 มิ.ย.2566 PCT ชุดที่ 1 จับสาวบัญชีม้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างตัวเป็น กสทช.

ฯลฯ

 

รวมถึงคดีที่ทำให้คนรู้จัก ชุด PCT มากขึ้น คือ  PCT ชุดที่ 4 ทลายเครือข่าย เว็บพนันออนไลน์(มินนี่) เมื่อปลายเดือน ก.ย.2566 มีการสนธิกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ 30 จุด ใน 6 จังหวัด

 

โดยจุดที่เป็นไฮไลท์ คือ บ้านพัก ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซอยวิภาวดี 60 เมื่อ บิ๊กโจ๊ก – พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ปรากฏตัว ที่บ้านหลังนั้น ซึ่งในเวลาต่อมามีการดำเนินคดีกับ ผู้ต้องหารวม 14 คน ในจำนวนนี้มีตำรวจ 8 คน

 

นอกจากนี้มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องทุกกล่าวโทษตำรวจอีก 5 นาย ในจำนวนนี้มีชื่อ บิ๊กโจ๊ก รวมอยู่ด้วย โดยเรื่องอยู่ระหว่างที่ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะรับสำนวนเอาไว้พิจารณาเอง หรือส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดี

 

เรียกว่า ระยะเวลา 7 ปี ของศูนย์ PCT มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย

 

เมื่อ บิ๊กต่อ –  พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล สั่งยุบชุดปฏิบัติการ PCT ที่จัดเป็นฟันเฟือนสำคัญในการปราบโจรออนไลน์ ทำให้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ต้องเป็นแม่งาน ขยับ แอคชั่น ให้ชัด เร็ว แรง

 

เพราะนับจากนี้ผลงานการช่วยเหลือประชาชน กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์ ทลายเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่มีแทรกซึมอยู่ทุกที่ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพขององค์กร!