'อัยการ' ยื่นศาล 'ยึดทรัพย์' คดีหมูเถื่อน '100 ล้าน'
'อัยการ' ยื่นศาล 'ยึดทรัพย์คดีหมูเถื่อน' เเล้ว 2 สำนวน '100 ล้าน' ขอไต่สวนฉุกเฉิน ยึดอายัดทรัพย์สินระหว่างดำเนินคดี
วันที่ 8 มี.ค.2567 ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ แถลงความคืบหน้าของคดีกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร)หรือ หมูเถื่อน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ว่า มีการส่งสำนวนจาก สำนักงาน ปปง. มายังสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีพิเศษ 2 สำนวน
สำนวนแรก ส่งมาเมื่อวันที่ 11กุมภาพันธุ์ 2567 พฤติการณ์ กลุ่มผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าซากสุกร (หมูเถื่อน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร โดยมีข้อเท็จจริงว่าจะมีกลุ่มกระบวนการผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นขบวนการอยู่เบื้องหลังการทำผิด มีการเชิดนิติบุคคลให้มีการลักลอบนำเข้ามาซึ่งซากสุกรดังกล่าวมาทางด่านศุลกากรในลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร โดยการยื่นสำแดงราคาสินค้าอันเป็นเท็จ การสำแดงสินค้าพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ไปยื่นเป็นร้อยละศูนย์ แต่ถ้าหากสำแดงตามความเป็นจริงก็จะต้องชำระภาษีพิกัดอัตราภาษีศุลกากรประมาณร้อยละ 30
เเละเมื่อนำเข้ามาแล้วให้ตัวแทนนำสินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปเก็บยังห้องเย็นเพื่อที่จะรอจำหน่าย หรือจัดเก็บโดยในการนำซากสุกรดังกล่าวไปจำหน่ายจะใช้วิธีการสวมสิทธิโควต้าสุกรภายในประเทศ ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรในฐานะเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายสุกรได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมซึ่งเป็นเกษตรกรอย่างกว้างขวาง และการจำหน่ายซากสุกรดังกล่าวหากจำหน่ายแล้วจะมีกำไรถึงราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งเป็นกำไรที่เป็นจำนวนสูงมาก
ซึ่งซากสุกรดังกล่าวได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทแห่งหนึ่งที่เป็นบริษัททำกิจการเกี่ยวกับห้องเย็น จากการสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ แล้วก็พบว่าผู้ที่เป็นผู้จัดการบริษัทดังกล่าวได้แสดงตนเป็นผู้จัดการสถานที่จัดเก็บ(ห้องเย็น)เเละก็แจ้งว่าเป็นผู้ที่รับฝากมาจากบุคคลคนหนึ่งซึ่งอยู่ในขบวนการดังกล่าว
โดยบุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าซึ่งซากสุกร ต่อมาเมื่อได้ตัวผู้ที่ถูกซัดทอดดังกล่าวมาแล้ว ให้การยอมรับว่าเป็นคนนำเข้ามาจากต่างประเทศจริง จนกระทั่งทาง สำนักงาน ปปง. ได้มีการ ยึดทรัพย์สิน ในสำนวนแรกได้จำนวน 24 รายการ เป็นจำนวนเงิน 53 ล้านบาทเศษ โดยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ทาง สำนักงาน ปปง. จึงได้มีการส่งสำนวนมายังสำนักงานอัยการพิเศษ
หลังจากนั้นตนในฐานะ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ตั้งคณะทำงานขึ้นซึ่งประกอบไปด้วย นายนิรันดร์ นันตาลิต อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ,นายสมุทร ลีพชรสกุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน ,นางพรรณทิพย์ คูณทอง ฉันทะดำรงรัตน์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเเละเป็น เจ้าของสำนวน
คณะทำงานได้ตรวจสำนวนดังกล่าวแล้วจากพยานหลักฐานมีมูลเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ดังกล่าวจริงและทรัพย์สินที่ยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว จำนวน 24 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐาน ฟอกเงิน จึงได้ทำความเห็นเสนอต่อ รองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ และตนในฐานะ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งได้พิจารณาเเล้ว เห็นควรยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ริบทรัพย์สิน ที่ยึดอายัดไว้ชั่วคราวดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน และขอไต่สวนฉุกเฉินพร้อมกับขออายัดไว้ชั่วคราวในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล โดยได้มีการยื่นคำร้องดังกล่าวดังกล่าวในวันที่ 12 ก.พ. 2567 เป็นคดีหมายเลขดำที่ฟ.23/2567 โดยศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ก็ได้นัดไต่สวนคดีในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00น.
ต่อมาหลังจากที่ส่งสำนวนคดีแรกแล้ว สำนักงาน ปปง. ก็ได้ส่งสำนวนที่2 เป็นสำนวนที่มูลความผิดเป็นผู้กระทำความผิดรายเดียวกัน พฤติการณ์เดียวกันทั้งหมดในวันที่ 23 ก.พ. 2567 แต่ต่างกันตรงที่ว่า ทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้ชั่วคราวในคดีหลังมีทั้งหมด 26 รายการ รวมมูลค่า 43 ล้านบาทเศษ เมื่อรับสำนวนในวันที่ 23ก.พ.2567 ตนในฐานะ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งตั้งคณะทำงานชุดที่ 2 ประกอบไปด้วย
นายนิรันดร์ นันตาลิต อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็น หัวหน้าคณะทำงาน , นายณัฏฐ์ศาสน์ สิทธิชัย อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เป็นคณะทำงาน เเละมีนางพรรณทิพย์ คูณทอง ฉันทะดำรงรัตน์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเเละเป็น เจ้าของสำนวน
ภายหลังจากที่คณะทำงานได้พิจารณาตรวจสอบสำนวนคดีหลังซึ่งเป็นคดีที่ 2 แล้ว มีความเห็นเช่นเดียวกับคดีแรกว่า ทรัพย์สินดังกล่าวจำนวน 26 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดมูลฐานในฐานความผิด พ.ร.บ.ศุลกากรฯ จริง สมควรยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้ชั่วคราวดังกล่าว ให้ตกไว้เป็นของแผ่นดิน พร้อมกับสมควรยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและขอยึดอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล
คณะทำงานก็ได้นำเสนอสำนวนพร้อมความเห็นต่อ รองอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ และตนในฐานะ อธิบดีสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ตรวจพิจารณาแล้วมีความเห็นและคำสั่งสอดคล้องกัน กับคณะทำงานจนกระทั่งต่อมาเจ้าของสำนวนได้ดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องและคำขอดังกล่าวข้างต้นต่อศาลแพ่งที่เป็นศาลมีเขตอำนาจเป็นคดีหมายเลขดำที่ฟ.33/2567 โดยศาลแพ่งได้นัดไต่สวนคดีดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ทรัพย์จากทั้ง 2 สำนวนรวมกันเเล้ว จะเป็นเงินเกือบ100 ล้านบาท
ในส่วนคดีอาญาที่เกี่ยวกับซากสุกร หรือ หมูเถื่อน ขณะนี้ยังไม่มีส่งมายังอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เข้าใจว่ายังอยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ เเต่มีส่งมาอยู่หนึ่งเรื่อง แต่จะเป็นคดีซากไก่