ข่าว

ปิดจ็อบ คดีฆ่าโหด 'เศรษฐินี สวนทุเรียน' คนที่ไว้ใจ ร้ายที่สุด

ปิดจ็อบ คดีฆ่าโหด 'เศรษฐินี สวนทุเรียน' คนที่ไว้ใจ ร้ายที่สุด

09 มี.ค. 2567

ปิดจ็อบ คดีฆ่าโหด 'เศรษฐินี สวนทุเรียน' แกะรอย 2 วัน ล็อกคอ รปภ.แดง คนสนิท เปิดปากเงิน 1.8 แสนบาท ชนวนสังหาร สุดท้ายคนที่ไว้ใจ ร้ายที่สุด

เพียงแค่ 2 วัน สำหรับการแกะรอยคนร้าย ฆ่าโหด เศรษฐินี สวนทุเรียน

 

จากแรกเริ่ม มีผู้พบ ศพหญิงนิรนาม อยู่ในสระน้ำ สวนทุเรียน ริมถนนไร่อ้อย เขายายพริ้ง หมู่ 4 ต.กองดิน อ.แกลง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 มี.ค.2567 โดยไม่มีใครรู้ว่า เธอเป็นใครมาจากไหน ?

 

หลังพบศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากน้ำประแสร์ จ.ระยอง กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 เร่งพิสูจน์ตัวบุคคล จนทราบในบ่ายวันนั้น ว่า ศพที่พบ คือ ป้าอี๊ด หรือ นางฉวีวรรณ อายุ 69 ปี ชาว อ.แกลง จ.ระยอง เศรษฐินี เจ้าของสวนทุเรียน ใน จ.ระยอง

 

ทีมสืบสวนและทีมสอบสวน ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อคลี่คลายคดี ชุดสืบสวนลงพื้นที่บ้านพักของ ป้าอี๊ด เศรษฐินี ทันที หลังทราบว่าเป็นศพของเธอ

ปมมรดก ปมขัดแย้งในครอบครัว ปมฆ่าชิงทรัพย์ ถูกตั้งขึ้น

 

ทั้งลูกชายและลูกสาวของ ป้าอี๊ด เศรษฐินี สวนทุเรียน รวม 5 คน ถูกเชิญตัวมาสอบปากคำ แม้ในตอนแรกจะพบว่าลูกชายคนหนึ่งมีการเสพยา แต่ก็ไม่อาจปรักปรำได้ว่าทำร้ายแม่ตัวเอง เพราะไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ไปที่ตัวลูกชายคนนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคุมตัวไว้ในฐานะคนเสพยาเท่านั้น

 

ขณะเดียวกันการสอบปากคำ ทั้งลูกจ้างดูแลสวนทุเรียน และลูกจ้างกรีดยาง ให้กับ ป้าอี๊ด เศรษฐินี ผู้เคราะห์ร้าย พบว่า มีอีกคนที่ น่าสงสัยเป็นอันดับ 1 คือ รปภ.แดง หรือ ยามแดง ที่ ป้าอี๊ด รู้จักสนิทสนมและไว้เนื้อเชื้อใจมาก ถึงขั้นให้เบิกถอนเงินสดแทนกันได้

 

เมื่อทีมสืบสวนทราบว่า รปภ.แดง ทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ในจ.จันทบุรี จึงเข้าประกบตัวทันที

 

แม้ว่าในครั้งแรก ช่วงเย็นวันที่ 8 มี.ค.2567 รปภ.แดง จะปฏิเสธเสียงแข็ง ว่าเขาไม่รู้เรื่องกับการ สังหารโหด ป้าอี๊ด เศรษฐินี โดยกุเรื่องอ้างเหตุผลต่างๆนานา เพื่อเบี่ยงเบนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนเชื่อในคำพูดที่แต่งขึ้นมา

แต่หลักฐานจากกล้องวงจรปิด รถกระบะยี่ห้อฟอร์ด ของ รปภ.แดง ขับผ่านกล้องวงจรปิด ในเส้นทางที่นำร่างไร้วิญญาณของเศรษฐินีไปทิ้งในสระน้ำ สวนทุเรียน เป็นช่วงเวลาสอดคล้องกับการเสียชีวิตพอดิบพอดี ที่สำคัญท้ายกระบะ ยังมีกล่องพลาสติก สีขาว แบบเดียวกับที่พบครอบศีรษะศพอยู่ในสระน้ำ ทำให้ รปภ.แดง กลายเป็นผู้ต้องสงสัย เบอร์1 ทันที

 

ขณะที่หลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ ถูกส่งตรวจเปรียบเทียบก่อนหน้าแล้ว ทั้งหมดสอดคล้องกันและพุ่งเป้ามาที่ รปภ.แดง

 

กระทั่งเที่ยงคืนเศษ วันที่ 8 มี.ค.2567 ศาลอนุมัติหมายจับ นายเจริญ หรือ ยามแดง หรือ รปภ.แดง ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา รอบฝังซ่อนเร้นย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบัง การเกิดการตาย หรือเหตุแห่งการตาย

 

ทันทีที่เห็นหมายจับ รปภ.แดง คอตก เช้าวันที่ 9 มี.ค.2567 เขายอมรับสารภาพสิ้น โดยบอกถึงมูลเหตุจูงใจว่า “ได้ขอยืมเงิน ป้าอี๊ด จำนวน 180,000 บาท  จากตอนแรก ป้าอี๊ด ตกลงจะให้ และมาภายหลังเจ้าตัวเกิดเปลี่ยนใจ ไม่ให้ยืม ทำให้รู้สึกโกรธมาก

 

“จากนั้น วันที่ 5 มี.ค.2567 ได้หลอก ป้าอี๊ด ว่าจะพาไปเที่ยว ก่อนพาไปพูดคุยที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงลงมือบีบคอ ฆ่าจนแน่นิ่งไป พอรู้ว่าตายแล้ว จึงจับร่างยัดใส่กล่อง นำศพมาทิ้งไว้ที่สระน้ำ ในสวนทุเรียน โดยก่อนทิ้งศพ ได้ปลดเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ของ ป้าอี๊ด มาด้วย ส่วนนาฬิกาเรือนเล็กๆ นำไปโยน ทิ้งสระน้ำ จุดเดียวกับที่นำศพไปทิ้งคำรับสารภาพของ รปภ.แดง ในเวลาต่อมา

 

โดยการจับกุม รปภ.แดง สร้างความประหลาดใจให้กับเพื่อนบ้านของเขาอย่างมาก ทุกคนแทบไม่อยากเชื่อว่า รปภ.แดง จะเป็นคนร้าย และต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเขา เป็นคนดี เป็นคนซื่อๆ

 

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างต้องพิสูจน์กันที่พยานหลักฐาน ในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล

 

คดีฆ่าโหดเศรษฐินี สวนทุเรียน จึงเป็นอีกคดีตัวอย่าง ของคนที่รู้หน้าไม่รู้ใจ และคนที่ไว้ใจ สุดท้ายอาจเป็นคนที่ร้ายที่สุด !