ข่าว

แจงยิบ ขั้นตอน 'สาวอบต.' ยักยอกเงิน 11 ล้าน 'นายก อบต.' เผย กินไม่ได้นอนไม่หลับ

แจงยิบ ขั้นตอน 'สาวอบต.' ยักยอกเงิน 11 ล้าน 'นายก อบต.' เผย กินไม่ได้นอนไม่หลับ

11 มี.ค. 2567

แจงยิบ ขั้นตอน สาวอบต. ‘ยักยอกเงิน 11 ล้าน’ นายก อบต. เปิดใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับยกทีม ด้านผู้ก่อเหตุหายออกจากบ้านทั้งครอบครัว

วันที่ 11 มี.ค.2567 ที่ อบต.แห่งหนึ่ง ในอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ภายหลังปรากฏข่าว ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงิน ทุจริตยักยอกเงิน 11 ล้านบาท ออกไปจาก อบต. ผ่านเช็คของธนาคาร เป็นลักษณะของการจ่ายผ่านระบบเช็คให้กับผู้รับเหมาทั่วๆ ไป โดยปกติจะมีผู้ที่มีสิทธิ์ลงชื่อในเช็ค 3 คน ตามตำแหน่งคณะผู้บริหาร คือ 1.นายก อบต. 2 ปลัด อบต.และ 3 ผอ.กองคลัง

 

นอกจากนี้ ต้องแนบเอกสารการสั่งจ่ายเช็คมาด้วยทุกครั้ง จากนั้นจะนัดหมายผู้รับเหมางานมารับเช็ค ลงชื่อต้นขั้วเช็ค ลงชื่อในใบเอกสารแนบหลักฐานทาง อบต.ว่าจ่ายค่าอะไร เท่าใดด้วย และเช็คจะต้องมีการขีดคร่อม เพื่อไม่ให้สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ ก่อนนำไปเข้าบัญชีที่ผู้รับเหมาเปิดไว้ที่ธนาคาร

 

แต่ในกรณีนี้ ปรากฏว่า เช็คดังกล่าว มีที่จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม ต้องนำเข้าบัญชี เพียง 5 ใบ ส่วนอีก 23 ใบเป็นการจ่ายเป็นเช็คเงินสด สามารถเบิกเงินได้ทันที ไม่ต้องผ่านธนาคาร

 

นายธวัช นายก อบต. กล่าวว่า สตง.เข้ามาตรวจตามรอบ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2567 ถึงวันที่ 23 ก.พ. 2567 พบข้อผิดปกติในระบบการจ่ายเช็ค เริ่มจากวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดยเช็คที่จ่ายจริง จำนวน 1,475 บาท แต่เช็คที่ไปขึ้นเงิน ที่เป็นหลักฐานจากธนาคารระบุ กลายเป็นเงิน 401,475 บาท หมายความว่า มีการเติมตัวเลขใส่ไปข้างหน้า คือเลข 40

นายธวัช กล่าวต่อว่า รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อผู้รับเช็ค จากที่จะต้องจ่ายผู้รับเหมา กลายเป็นจ่ายให้กับคนอื่นที่เป็นเครือญาติผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงิน มีทั้งจ่ายให้กับหลาน และลูกชายที่มีอายุเพียง 19 ปี โดยมีการไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้รองรับก่อนหน้าแล้ว ทำเช่นนี้ตั้งแต่ ต.ค.2565 มาจนถึง ก.พ.2567 รวมเช็คที่ทำการเปลี่ยนแปลง/เพิ่มเติมตัวเลข เปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้รับ ทั้งหมด 28 ใบเช็ค รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,680,214 บาท

 

นายธวัช กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ สตง. ตรวจพบในวันที่ 24 ก.พ.2567 ได้ส่งข้อสรุปให้คณะผู้บริหาร อบต. จากนั้นนายกฯ ได้เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับ น.ส.มยุรา ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงิน ในข้อหายักยอกทรัพย์ ไปจาก อบต.เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตน จากนั้นได้ทำหนังสือไปขอหลักฐานเช็คจากธนาคารฯ ในวันที่ 29ก.พ.2567 ธนาคาร ได้ทำหนังสือตอบกลับมาพร้อมถ่ายเอกสารเช็คที่ต้องสงสัย ทั้ง 28 ใบแนบมา

 

“ทาง อบต. ได้ทำหนังสือไปขออายัดบัญชีทุกธนาคาร ที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.มยุรา โดยการงดจ่ายเงินเข้าออกเป็นการชั่วคราวก่อน พร้อมกันนี้ยังได้ทำหนังสือแต่งตั้ง คณะสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2567 พร้อมทั้งมีคำสั่งพักงาน ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2567  ครบกำหนดเขาขาดงานครบ 7 วันขึ้นไป

 

“นับเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อ อบต. โดยนายก อบต.พร้อมคณะรองนายกฯ ปลัด และคลัง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ต้องการดำเนินคดี น.ส.มยุราให้ถึงที่สุด แม้ว่าเขาจะได้ประกันตัวออกมาแล้วก็ตาม”นายก อบต.กล่าว

นายก อบต. กล่าวด้วยว่า ในส่วนสามีของ น.ส.มยุรา ยังทำงานเป็นลูกจ้าง อบต. วันนี้แจ้งมาว่า ป่วยไม่สบาย จึงลางาน

 

ขณะเดียวกัน นายอดุลย์ วันดี ผอ.สำนักงาน ปปช.ศรีสะเกษ พร้อมเจ้าหน้าที่ รวม 7 คน ได้ลงพื้นที่ ตรวจสอบหลักฐาน สอบข้อเท็จจริง ในช่วงบ่ายของวันนี้ ข้อมูลต่างๆ ยังอยู่ในชั้นการสอบข้อเท็จจริง

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านพัก น.ส.มยุรา พบเพียงคุณแม่ โดยระบุว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ส่วนลูกสาวหายออกจากบ้านไปหลายวันแล้ว โดยพาลูกและสามีออกจากบ้านไปด้วย