'ไทม์ไลน์' คดี 'ฆ่าป้าบัวผัน' สระแก้ว จากวันเกิดเหตุ ถึง 'ศาลลงโทษผู้ปกครอง'
13 มี.ค. 2567
'เปิดไทม์ไลน์' คดี 'ฆ่าป้าบัวผัน' สระแก้ว จากวันเกิดเหตุ ถึง 'ศาลลงโทษผู้ปกครอง' กลายเป็นคดีตัวอย่างเมื่อผู้ปกครองปล่อยปละละเลย
คดี ฆ่าป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ จ.สระแก้ว เป็นคดีที่สะท้อนภาพความรุนแรงของวัยรุ่นและเยาวชน ในปัจจุบันได้ชัดเจน เป็นคดีที่สะท้อนสังคมในหลายแง่มุม นอกจากความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ดังที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดขณะก่อเหตุแล้ว
สังคมยังตั้งคำถามถึงผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย ให้ลูกหลานตัวเองไปก่อเหตุร้ายด้วย กระทั่งกลายเป็นคดีตัวอย่างที่ศาลลงโทษผู้ปกครอง คมชัดลึกออนไลน์ ลำดับเหตุการณ์ของคดี ดังนี้
จุดเริ่มต้นแห่งคดี
- วันที่ 12 ม.ค.2567 ตำรวจ สภ. อรัญประเทศ จ.สระแก้ว รับแจ้งพบศพหญิง ในสระน้ำข้างโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศ สระแก้ว โดยศพที่พบคือ ป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ วัย 47 ปี หญิงสติไม่สมประกอบ และชอบดื่มเหล้า
- วันเดียวกัน ลุงเปี๊ยก หรือ นายปัญญา ชายวัย 54 ปี รับสารภาพว่า ทำร้ายร่างกาย ป้าบัวผัน จนเสียชีวิต โดยเอาเก้าอี้ฟาดศีรษะ แล้วเอาศพไปทิ้งบ่อน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงส่งตัวไป ฝากขังที่ศาลจังหวัดสระแก้ว
คดีพลิก
- วันที่ 14 ม.ค.2567 นักข่าวช่องหนึ่ง พบหลักฐานกล้องวงจรปิด วันที่ 12 ม.ค.2567 เวลา 02.00 น. จับภาพ 5เยาวชนรุมทำร้าย ป้าบัวผัน อย่างทารุณ จึงนำหลักฐานไปมอบให้ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จนนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหาตัวจริง เป็นวัยรุ่น อายุ 13-16 ปี รวม 5 คน ในจำนวนนี้ มี ลูกตำรวจ ถึง 2 คน โดยชาวบ้านเรียกเยาวชนกลุ่มนี้ว่า แก๊งลูกตำรวจ และเท่ากับว่า การจับกุม ลุงเปี๊ยก เป็นการ จับแพะ
- วันนั้น วัยรุ่นผู้ก่อเหตุทั้งหมดสารภาพว่าเป็นคนทำร้าย ป้าบัวผัน จริง และกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อชาวบ้านออกมาเปิดโปงวีรกรรมของวัยรุ่นกลุ่มนี้ ว่า มักทำตัวกร่างและอาละวาดไปทั่ว อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
- วันที่ 15 ม.ค.2567 ลุงเปี๊ยก ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ หลังตำรวจจับกุมวัยรุ่นตัวจริงที่ก่อเหตุได้ โดย ลุงเปี๊ยก เปิดโปงว่าถูกข่มขู่ และถูกตำรวจใช้ถุงดำคลุมหัว จึงยอมรับสารภาพ
- วันที่ 25 ม.ค.2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีลุงเปี๊ยก เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเข้าข่าย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กรณีถูกข่มขู่ให้ต้องรับสารภาพ
- วันที่ 13 มี.ค.2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระแก้ว พิพากษาปรับผู้ปกครองเยาวชน ทั้ง 5 ราย รายละ 10,000-20,000 บาท ฐานส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรเสี่ยงต่อการกระทำความผิด , บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด โดยทั้งหมดรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือปรับ รายละ 5,000-10,000 บาท ส่วนคนที่ไม่มีเงินค่าปรับ ให้บำเพ็ญประโยชน์ตามจำนวนที่ศาลมีคำพิพากษา
กลายเป็นคดีตัวอย่างที่ ศาลลงโทษผู้ปกครอง ด้วย กรณีปล่อยปละละเลย ให้ลูกหลานที่อยู่ในการดูแล ออกไปกระทำความผิด !