ข่าว

เปิดข้อกฎหมายไขข้อสงสัยทำไม 'น้องแคร์' ถึงโดน ตร.มาเลเซียรวบ

เปิดข้อกฎหมายไขข้อสงสัยทำไม 'น้องแคร์' ถึงโดน ตร.มาเลเซียรวบ

14 มี.ค. 2567

เปิดข้อกฎหมายไขข้อสงสัย 'น้องแคร์' จากคนหายปริศนา กลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก่อนไปทำงานมาเลเซีย ต้องทำอย่างไร

ข่าวการหายตัวไปของ น.ส.ชุติมณฑน์ หรือ น้องแคร์ สาววัย 26 ปี จาก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งเดินทางออกจากบ้านช่วงค่ำวันที่ 27 ก.พ. 2567  โดยเธอบอกกับที่บ้านว่าจะไปทำงานที่ จ.สมุทรปราการ แต่ระหว่างเดินทางเกิดเปลี่ยนเส้นทางไปทำงานที่ จ.กาญจนบุรี  จากนั้น น้องแคร์ ขาดการติดต่อกับทางครอบครัว ไปตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2567 จนทางครอบครัวต้องประสานขอความช่วยเหลือผ่านทางมูลนิธิกู้ภัยกาญจนบุรี  ให้ช่วยติดตามหาตัวน้องแคร์  

 

กระทั่งมีการตรวจสอบพบว่า น้องแคร์ เดินทางไปประเทศมาเลเซีย โดยผ่านด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เข้าประเทศมาเลเซียด้วยการจ๊อบพาสปอร์ตแบบท่องเที่ยว เมื่อเวลา 14.22 น. ของวันที่ 28 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา  และนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปยังด่านพรมแดนเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
 

น.ส.ชุติมณฑน์ หรือ น้องแคร์ ถูกตร.มาเลเซีย จับกุม

 

 

ด้าน  พ.ต.อ.พูลศักดิ์ ผกก.ตม.จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า น้องแคร์ ถูกตำรวจเมืองกวนตัน มาเลเซีย จับกุมตัว หลังจากที่เดินทางไปทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ WORK PERMIT ซึ่งหลังถูกจับกุมตำรวจมาเลเซียได้ยึดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่สามารถติดต่อใครได้ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ น้องแคร์ ขาดการติดต่อกับทางครอบครัว

 

ตามกระบวนการสอบสวนของตำรวจมาเลเซีย  ต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ และล่าสุด น้องแคร์ ถูกตำรวจย้ายไปควบคุมตัวที่รัฐปะหัง 


สำหรับการเดินทางไปประเทศมาเลเซียของน้องแคร์ ในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่จากการตรวจสอบ พบว่า น้องแคร์ เดินทางผ่านด่านชายแดน สุไหงโก-ลกไปยังประเทศมาเลเซีย แล้วหลายครั้ง โดยผ่านด่าน ตม.สุไหงโก-ลก 

- ออกจากไทย  เวลา 11.34 น. วันที่ 9 พ.ค. 2566
  กลับเข้าไทย  เวลา 18.35 น. วันที่ 3 มิ.ย. 2566

- ออกจากไทย เวลา 14.35 น. วันที่ 16 ต.ค. 2566
  กลับเข้าไทย เวลา 07.13 น. วันที่ 7 พ.ย. 2566

-ออกจากไทย เวลา 11.01 น. วันที่ 9 พ.ย. 2566
 กลับเข้าไทย เวลา 06.27 น. วันที่ 18 ธ.ค. 2566

- และล่าสุด ออกจากไทย เวลา 14.00 น. วันที่ 28 ก.พ. 2567

 

 

หลักฐานการเดินทางผ่านด่าน ตม.ข้ามไป มาเลเซีย ครั้งล่าสุดของ น้องแคร์

 

 

โดยในแต่ละครั้งที่ น้องแคร์ อยู่ในประเทศมาเลเซีย ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งผู้ถือหนังสือเดินทางไทยและหนังสือเดินทางมาเลเซีย สามารถเดินทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย เพื่อการท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา และสามารถพำนักอยู่ในประเทศได้เป็นเวลา 30 วัน

 

 

ประเทศมาเลเซีย มีแรงงานไทยที่ลักลอบทำงานจำนวนมาก ทำให้ทางการมาเลเซีย ดำเนินนโยบายในการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าว โดยมีการตรวจสอบตามสถานประกอบการและร้านอาหาร ดำเนินคดีและส่งกลับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

 

การลักลอบไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งกรณีของ น้องแคร์ เองก็ใช้วิธีการเดินทางเข้าประเทศไปแบบนักท่องเที่ยว แต่ไปทำงาน จนกระทั่งถูกจับได้ในที่สุด 

 

สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีขั้นตอนในการทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ดังนี้ 


นายจ้างที่จะจ้างคนงานต่างชาติมีหน้าที่จะต้องทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้กับลูกจ้าง โดยจะต้องนำเอกสารไปยื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประเทศมาเลเซีย ดังต่อไปนี้

 

  • 1. หนังสือเดินทางของลูกจ้าง
  • 2. ใบตรวจโรคจากสถานพยาบาล
  • 3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้วครึ่ง
  • 4. สัญญาการจ้างงาน

 

ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) โดยทั่วไปมีอายุ 1 ปี (ยกเว้นอาชีพทำงานในร้านอาหารประเภทต้มยำ ซึ่งอาจขอคราวละ 3 เดือน หรือ 1 ปี)

 

ขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทำงาน

1. นายจ้างจะต้องยื่นขอโควตาจำนวนคนงานต่างชาติจากกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย (Ministry of Home Affairs) โดยทางการมาเลเซียจะพิจารณาจำนวนคนงานต่างชาติ จากประเภทและขนาดของแต่ละกิจการ และชำระค่าธรรมเนียมแรงงานต่างชาติ (levy)

 

2. เมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว นายจ้างติดต่อคนงานตามจำนวนโควต้าที่ได้รับ ซึ่งนายจ้างอาจติดต่อคนงานโดยตรง ผ่านบริษัทจัดหางานในประเทศไทย หรือมอบให้สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานให้ความช่วยเหลือ

 

3. เมื่อได้รายชื่อคนงานแล้ว นำหลักฐานประกอบด้วย สำเนาหนังสือเดินทางคนงาน ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมฯ ไปขอ Calling Visa ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย กระทรวงมหาดไทย

 

4. นายจ้างนำเอกสารสัญญาจ้างมาให้สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียประทับรับรอง พร้อมเอกสารประกอบ ได้แก่ สำเนาหนังสือจดทะเบียนบริษัท (Company registration form 9,24,49 หรือ form D), สำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการ (Business License), สำเนาบัตรประจำตัวนายจ้าง, Calling Visa, สำเนาหนังสือเดินทางลูกจ้าง, รูปถ่ายลูกจ้าง, แผนที่สถานประกอบการ, รูปถ่ายสถานประกอบการและที่พักของลูกจ้าง

 

5. คนงานนำ Calling Visa และสัญญาการจ้างงานที่รับรองแล้ว (ตามข้อ 3 และ 4) ไปขอวีซ่าชั่วคราว 3 เดือน (Single Entry visa) ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลมาเลเซียในประเทศไทย

 

6. คนงานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่จัดหางานจังหวัดที่มีภูมิลำเนา หรือที่กรมการจัดหางาน ถ. มิตรไมตรี ดินแดง กทม และรายงานตัวที่ด่านตรวจคนหางาน ณ สนามบินหรือด่านที่เดินทางออกจากประเทศ

 

7. เมื่อคนงานเดินทางมาแล้ว นายจ้างจะต้องดำเนินการขอทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้ลูกจ้าง ซึ่งจะต้องทำภายในเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศมาเลเซีย (1-3 เดือน)

 

บทลงโทษผู้ลักลอบทำงานผิดกฎหมายในมาเลเซีย

  • 1.ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต/ใช้วิชาผิดประเภท ได้รับโทษสูงสุด คือ ปรับไม่เกิน1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • 2. ใช้ตราประทับเข้า-ออกปลอม/ใบอนุญาตทำงานปลอม ได้รับโทษสูงสุด คือ ปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • 3. ค้าประเวณี ได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • 4. เป็นธุระจัดหาให้มีการค้าประเวณี ได้รับโทษจําคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับ
  • 5. ลักลอบเข้าเมือง/ไม่มีเอกสารเดินทางหรือตราประทับ ได้รับโทษสูงสุด คือ ปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต  หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และโบยไม่เกิน 6 ครั้ง

 

หากถูกทางการมาเลเซียดำเนินคดีและถูกจับกุม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
แนะนำให้ญาติของผู้ถูกจับกุม ดำเนินการดังนี้

 

  • 1. ตรวจสอบสถานะของผู้ถูกจับกุมกับสถานเอกอัครราชทูตฯ  โดยแจ้งข้อมูลตามแบบคำร้อง ติดตามหาญาติคนไทยที่สูญหายหรือถูกจับกุมในมาเลเซีย 
  • 2. ติดต่อขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมที่สถานกักกันได้หลังจากพ้นกำหนดการควบคุมตัวไว้สอบสวน (ไม่เกิน 14 วัน)
  • 3. อย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ผู้ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัว

 

เมื่อพ้นกำหนดรับโทษแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ จะประสานงานกับทางการมาเลเซีย (สถานกักกัน) และแจ้งญาติให้ทราบในการส่งตัวผู้พ้นโทษกลับประเทศไทยต่อไป

 

 

ขอบคุณข้อมูล  สำนักแรงงาน ในประเทศมาเลเซีย